คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จ. ตัวแทนของ อ. ติดต่อกับ ร. ลูกจ้างของ ท. ผู้เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้อง ขอทำประกันวินาศภัย ประเภท 3 สำหรับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ – 9044 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ประเภท 3 เป็นอัตราเบี้ยตายตัว ทั้งตามอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ท. และ ธ. สองสามีภริยา เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้องมีสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานตัวแทนสามารถออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 จ. เสนอเอาประกันวินาศภัย ประเภท 3 ให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ – 9044 กรุงเทพมหานคร ร. รับเรื่องไว้ โดยสำนักงานตัวแทนของ ท. มีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง จึงเป็นการสนองตอบ สัญญาประกันวินาศภัยย่อมเกิดขึ้นทันที ส่วนเอกสารกรมธรรม์จะออกได้เมื่อใดเป็นกระบวนการภายในของผู้ร้อง ผู้เอาประกันภัยจะชำระเบี้ยประกันเมื่อใดขึ้นอยู่กับการเรียกเก็บของผู้ร้อง และตัวแทนของผู้ร้องดำเนินการโดยทุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาที่ผู้ร้องต้องเรียกร้องความรับผิดจากตัวแทนเอง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย ย่อมเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 239/2559 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 529/2559
นายเอื้อง ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเนื่องจากเกินกำหนดเวลา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นางอทิตาและนายธัชกร สามี เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้อง โดยเปิดสำนักงานตัวแทนที่จังหวัดสมุทรสาคร นางสาวอารียา เป็นลูกจ้างของนางอทิตา นายเอื้อง เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ฒ – 9044 กรุงเทพมหานคร นายเอื้องมอบหมายให้นายจารุเจตน์ เป็นตัวแทนติดต่อเอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว นายจารุเจตน์ติดต่อสำนักงานของนางอทิตาตัวแทนผู้ร้องที่จังหวัดสมุทรสาคร ผ่านนางสาวอารียาลูกจ้างของนางอทิตาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 ผู้ร้องออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นายเอื้อง มีระยะเวลาคุ้มครองเริ่มต้นวันที่ 6 มีนาคม 2559 เวลา 14.33 นาฬิกา สิ้นสุดวันที่ 6 มีนาคม 2560 เวลา 16.30 นาฬิกา อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องออกกรมธรรม์ประกันภัยให้นายเอี่ยมผู้เอาประกันใหม่ ระบุระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 5 มีนาคม 2559 เวลา 10.25 นาฬิกา สิ้นสุดวันที่ 5 มีนาคม 2560 เวลา 16.30 นาฬิกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายจารุเจตน์ตัวแทนของนายเอื้องติดต่อกับนางสาวอารียาลูกจ้างของนางอทิตาผู้เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้อง ขอทำประกันวินาศภัย ประเภท 3 สำหรับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ – 9044 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ประเภท 3 เป็นอัตราเบี้ยตายตัว ทั้งตามอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางอทิตาและนายธัชกรสองสามีภริยาเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้องมีสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานตัวแทนสามารถออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัยประเภท 3 ได้เอง ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 นายจารุเจตน์เสนอเอาประกันวินาศภัย ประเภท 3 ให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ – 9044 กรุงเทพมหานคร นางสาวอารียารับเรื่องไว้ โดยสำนักงานตัวแทนของนางอทิตามีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง จึงเป็นการสนองตอบ สัญญาประกันวินาศภัยย่อมเกิดขึ้นทันที ส่วนเอกสารกรมธรรม์จะออกได้เมื่อใดเป็นกระบวนการภายในของผู้ร้อง ผู้เอาประกันภัยจะชำระเบี้ยประกันเมื่อใดขึ้นอยู่กับการเรียกเก็บของผู้ร้อง และตัวแทนของผู้ร้องดำเนินการโดยทุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาที่ผู้ร้องต้องเรียกร้องความรับผิดจากตัวแทนเอง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย ย่อมเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ต้องพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share