คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8410/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดสถานหนักตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษจำเลยสถานหนักตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8)
คำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด… โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนและกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าตามมาตรา 10 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 57, 67, 76 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67, 57, 91, 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 14 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 7 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน รวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นจำคุก 15 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดสถานหนักตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษจำเลยสถานหนักตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) แต่เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า คำจำกัดความของคำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด… ซึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนและกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าตามมาตรา 10 แห่งบทกฎหมายดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share