คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8385/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว และการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบ แต่กรณีการโอนตามสัญญาจะขายที่ดิน ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยโดยเป็นเพียงผู้ซื้อหรือเจ้าหนี้ในฐานะผู้รับโอนที่ดินจากจำเลยเท่านั้น หาได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนทำสัญญาดังกล่าวไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อนตามมาตรา 115 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 และพิพากษาให้ล้มละลาย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 จำเลยโดยนายคุณจึงบรรเจิดศักดิ์ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 140 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ของจำเลยซึ่งจำนองไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยาม จำกัด ให้แก่นายธเนศ ตระการสืบกุล ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์2533 จำเลยได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านการโอนได้กระทำภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 4,100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินมาจากจำเลยโดยไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้คัดค้านไม่ใช่เจ้าหนี้จำเลย จึงมิใช่เป็นการโอนโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 140 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้าน และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 4,100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม2533 นายคุณ จึงบรรเจิดศักดิ์ บิดาจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 140 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง จังหวัดนครเขื่อนขันธ์ ของจำเลยให้แก่นายธเนศ ตระการสืบกุล บิดาผู้คัดค้านโดยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 ครั้นถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลา3 เดือนก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยาม จำกัด แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกันนั้น ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2533 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2534

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 ได้หรือไม่ บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า “การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้” เห็นว่า การโอนทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว และการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบ แต่กรณีการโอนตามสัญญาจะขายที่ดินในคดีนี้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยโดยเป็นเพียงผู้ซื้อหรือเจ้าหนี้ในฐานะผู้รับโอนที่ดินจากจำเลยเท่านั้น หาได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนทำสัญญากันดังกล่าวไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อนตามนัยมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share