แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำต้องฟ้อง จ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่บังคับให้ลูกจ้างต้องฟ้องบรรดานายจ้างทั้งหมดเป็นจำเลย จึงเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะเลือกฟ้องนายจ้างคนใดหรือทุกคนเป็นจำเลยก็ได้
พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งจำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับ โจทก์และจำเลยไม่นำคดีสู่ศาลภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงถึงที่สุด ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้ แม้จะเกินระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน เพราะมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่อยู่ในกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องภายใน 30 วันตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน1,200 บาท เงินประกันจำนวน 2,400 บาท ค่าชดเชยจำนวน 7,200บาท และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลังถึงวันที่ 4มิถุนายน 2541 จำนวน 41,960 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,760บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า พนักงานตรวจแรงงานกำหนดจำนวนเงินค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำชัดเจนแน่นอนแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายถึงรายละเอียดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและวันเวลาที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 39/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคสอง จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเมื่อจำเลยไม่จ่ายโจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้แม้เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งเพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 1,200 บาท เงินประกันจำนวน 2,400 บาทค่าชดเชยจำนวน 7,200 บาท และค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน41,960 บาท รวมเป็นเงิน 52,760 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลแรงงานกลางแต่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องนายเจริญ อร่ามเจริญหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่บังคับให้ลูกจ้างต้องฟ้องบรรดานายจ้างทั้งหมดเป็นจำเลย จึงเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะเลือกฟ้องนายจ้างคนใดหรือทุกคนเป็นจำเลยก็ได้โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องฟ้องนายเจริญเป็นจำเลยด้วยดังที่จำเลยอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 39/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเงินประกัน ค่าชดเชยและค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งจำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 แล้วโจทก์และจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงถึงที่สุด ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้แม้จะเกินระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเพราะมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่อยู่ในกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องภายใน 30 วันตามบทกฎหมายดังกล่าวอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน