คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ มีใจความว่า จำเลยทั้งสองยินยอมผ่อนชำระต้นเงินตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้และในคดีอื่น ๆ อีก 7 คดี เป็นต้นเงินรวม 15,633,063.59 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวด ๆ รวม 47 งวด พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับโดยผ่อนชำระ 4 งวด และโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในแต่ละงวด หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามบันทึกนี้ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้และคดีอื่น ๆ เป็นคดีไป แต่หากจำเลยทั้งสองผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง จำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อยกคดีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระต้นเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ขึ้นพิจารณาคดีต่อไป ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องในแต่ละคดีเท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองจะต้องผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในแต่ละคดีจนครบจำนวนที่ตกลงกัน โจทก์จึงจะถือว่าเป็นการระงับคดีอาญาแต่ละคดีอันเป็นเงื่อนไขที่โจทก์จะปฏิบัติในภายหน้า และตามบันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ก็ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองทันทีแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นย่อมไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่า สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปและพิพากษายกฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ก็เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองตามลำดับอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากำแพงแสน จำนวน 5 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกและหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่สามารถเรียกเงินตามเช็คทุกฉบับดังกล่าวได้ เพราะมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 90, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ระหว่างการพิจารณา จำเลยทั้งสองกับโจทก์ตกลงทำบันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ลงวันที่ 11 มีนาคม 2541 มีใจความสำคัญว่า จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมผ่อนชำระต้นเงินตามเช็คพิพาทในคดีนี้และคดีอื่นรวม 8 คดี จำนวนเงิน 15,633,063.59 บาท เป็นงวด ๆ รวม 47 งวด เริ่มงวดแรกวันที่ 10 เมษายน 2541 และทุกวันที่ 10 ของเดือนถัด ๆ ไปจนกว่าจะครบถ้วน และจำเลยทั้งสองยินยอมผ่อนชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คในแต่ละคดีในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์เป็นเวลา 4 งวด เมื่อจำเลยทั้งสองชำระต้นเงินตามเช็คแต่ละคดีครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าบันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2541 มีใจความว่า จำเลยทั้งสองยินยอมผ่อนชำระต้นเงินตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้และในคดีอื่น ๆ อีก 7 คดี เป็นต้นเงินรวม 15,633,063.59 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ รวม 47 งวด พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับโดยผ่อนชำระ 4 งวด และโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในแต่ละงวด หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามบันทึกนี้ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้และคดีอื่น ๆ เป็นคดีไป แต่หากจำเลยทั้งสองผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งจำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อยกคดีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระต้นเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ขึ้นพิจารณาคดีต่อไป เห็นได้ว่า เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องในแต่ละคดีเท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองจะต้องผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในแต่ละคดีจนครบจำนวนตามที่ตกลงกันดังกล่าว โจทก์จึงจะถือว่าเป็นการระงับคดีอาญาแต่ละคดีอันเป็นเงื่อนไขที่โจทก์จะปฏิบัติในภายหน้า และตามบันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ฉบับดังกล่าว ก็ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองทันทีแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว หนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นย่อมไม่สิ้นผลผูกพันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างสนับสนุนฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความใช้เงินตามเช็คพิพาทในคดีแพ่งและศาลได้พิพากษาคดีตามยอมแล้ว จึงมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้สละนั้นระงับสิ้นไป โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีกซึ่งต่างจากคดีนี้ เนื่องจากบันทึกเงื่อนไขการชำระหนี้ในคดีนี้ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) จะต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับ และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพแล้วเช่นนี้ ศาลฎีกาชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองต่อไปและนับโทษต่อจากคดีอาญาอื่น ๆ ตามฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่า สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปและพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ก็เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองตามลำดับอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share