คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ทายาทมิได้ขอแบ่งมรดกหากแต่มารดา ได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งเพื่อตนเองและแทนบุตรทุกคน เมื่อมารดา ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ กับ ส.ซึ่งต่างก็เป็นบุตรยังคงครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกันตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องให้แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของบิดามารดาได้ตาม มาตรา1748แม้ว่าจะเป็นเวลาภายหลังที่บิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว 40 ปีเศษและ 4 ปีเศษ ตามลำดับ ล่วงพ้นกำหนดเวลาตาม มาตรา1754 แล้วก็ตาม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ 8 ใน 9 ส่วนถ้าไม่สามารถแบ่งกันได้ ให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย ถ้าไม่อาจประมูลกันได้ ก็ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ 8 ใน 9 ส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งแปดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งแปดกับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอน เป็นบุตรของนายหมั่น นางไล จำเลยที่ 1 เป็นภรรยา และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอน ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายหมื่น นางไล เมื่อนายหมื่นถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2480 ทายาทของนายหมื่นไม่ได้แบ่งที่ดินพิพาทกันในฐานะที่เป็นมรดกของนายหมื่น นางไลถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2516 ขณะนี้จำเลยเป็นฝ่ายปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท โดยจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนเข้าไปปลูกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 และหลังจากนางไลถึงแก่กรรมแล้ว ทายาทของนางไลก็ยังไม่ได้แบ่งที่ดินพิพาทกันในฐานะที่เป็นมรดกของนางไลแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2519 แล้ว ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จึงเจรจากับทางฝ่ายจำเลยขอแบ่งที่ดินพิพาท อ้างว่าเป็นมรดกของนายหมื่น นางไล ตกได้แก่โจทก์กับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอน จำเลยไม่ยอมให้ วันที่ 7 ตุลาคม 2520 โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องอายุความมรดกหรือไม่ และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมิได้ยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับอายุความมรดกนั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งมรดก อ้างว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดถือครอบครองอยู่เป็นทรัพย์มรดกของนายหมื่น นางไล ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อ พ.ศ. 2480 และ พ.ศ. 2516 ตามลำดับ ตกได้แก่โจทก์กับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนผู้เป็นบุตร ซึ่งได้ครอบครองร่วมกันและแทนกันมา จำเลยเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยกับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์และแทนโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายแล้วนั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยอ้างว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องขอแบ่งมรดกของนายหมื่น นางไล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั่นเอง จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หรือไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์นั้น ได้ความว่าที่ดินอันเป็นมรดกรายพิพาทนี้นายหมื่น นางไล ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยากัน เป็นสินสมรส เมื่อนายหมื่นถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2480 ที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสดังกล่าวจึงต้องแบ่งแยกออกเป็นของนายหมื่นกับนางไลคนละครึ่ง และส่วนของนายหมื่นย่อมจะต้องเป็นมรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของนายหมื่น คือ นางไลซึ่งเป็นภรรยา และโจทก์ทั้งแปดกับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนผู้เป็นบุตรคนละส่วนเท่า ๆ กันตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อนายหมื่นถึงแก่กรรมบรรดาทายาทดังกล่าวไม่ได้ขอแบ่งมรดกของนายหมื่น หากแต่นางไลได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาจนกระทั่งนางไลถึงแก่กรรม จึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของนายหมื่นนี้ ตั้งแต่นายหมื่นถึงแก่กรรมแล้ว นางไลได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้เพื่อตนเองคนเดียวหรือครอบครองแทนบุตรด้วย ได้ตรวจดูอายุของโจทก์ทั้งแปดตามที่ระบุในคำฟ้อง ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2520 ที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 มีอายุ 50, 59, 56, 54, 48,45, 43 และ 41 ปี ตามลำดับ แสดงว่าในปี พ.ศ. 2480 ขณะที่นายหมื่นถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 คงมีอายุเพียง 10, 19, 16, 14, 8, 5, 3 และ 1 ปี ตามลำดับเท่านั้น ทุกคนยังอยู่ในเยาว์วัย นางไลยังต้องอุปการะเลี้ยงดูอยู่ ทั้งได้ความตามคำให้การของจำเลยอีกว่า ในปี พ.ศ. 2499 อันเป็นเวลาภายหลังจากนายหมื่นถึงแก่กรรม 19 ปี ซึ่งในตอนนั้นโจทก์ทุกคนเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว นางไลกับลูก ๆ ซึ่งหมายถึงโจทก์ก็ยังอยู่ด้วยกันในที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ถนนตำบลเดียวกันกับที่ดินพิพาทนั้นเอง เมื่อพิเคราะห์ถึงสิทธิและหน้าที่ของมารดาที่พึงมีต่อบุตรและความสัมพันธ์ฉันมารดากับบุตร ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าเมื่อนายหมื่นถึงแก่กรรมแล้วในขณะที่โจทก์ทั้งแปดยังอยู่ในเยาว์วัย นางไลได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้ทั้งเพื่อตนเองและแทนบุตรทุกคน และต่อมาเมื่อโจทก์เจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว นางไลกับโจทก์ทั้งแปดและจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนซึ่งปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกันตลอดมาจนกระทั่งนางไลถึงแก่กรรม สำหรับในช่วงระยะเวลาหลังจากนางไลถึงแก่กรรมแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์กับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนก็ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน และแทนกันตลอดมานั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์กับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกันตลอดมาจนกระทั่งนางไลถึงแก่กรรมดังวินิจฉัยข้างต้น จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์จะสละละทิ้งไม่ครอบครองที่ดินพิพาทอีกต่อไปภายหลังเมื่อนางไลถึงแก่กรรมเพราะโจทก์ทุกคนก็อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ใกล้ ๆ ที่ดินพิพาทนั่นเอง และสำหรับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนซึ่งเป็นผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อันใดที่เป็นการส่อแสดงว่า จะไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์หรือแทนโจทก์อีกต่อไป นอกจากนี้ยังได้ความตามเอกสารหมาย จ.5 อันเป็นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ประจำปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2520 อีกด้วยว่าโจทก์ที่ 4 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทและที่โจทก์นำสืบว่าในเดือนพฤษภาคม 2520 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ประมาณ 8 เดือนเศษ โจทก์ได้เจรจากับทางฝ่ายจำเลยขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาท แล้วทางฝ่ายจำเลยจะขอให้เป็นเงินแทนที่ดิน แต่ให้น้อยไป โจทก์จึงไม่ตกลงด้วยโจทก์ก็มีนายเชิด มณีเทศ จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ สิทธิ และนางปรียา ปิยะศักดิ์ผู้รู้เห็นในการเจรจากันมาเบิกความเป็นพยาน และจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า หลังจากจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์เคยมาเจรจาขอแบ่งที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นมรดกของนายหมื่น นางไล แต่ทางฝ่ายจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ เป็นการเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมานี้ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าหลังจากนางไลถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์กับจ่าสิบตำรวจสิงห์ทอนยังคงครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกันตลอดมาโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องฟ้องให้แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของนายหมื่นนางไลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 แม้ว่าจะเป็นเวลาภายหลังที่นายหมื่นถึงแก่กรรมไปแล้ว 40 ปีเศษ และนางไลถึงแก่กรรมแล้ว 4 ปีเศษ ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 1754 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1754 ดังกล่าว พิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้แบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4388 ให้แก่โจทก์แปดในเก้าส่วน และให้บังคับไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยร่วมกันเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ12,000 บาท”

Share