คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8378/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่ และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีข้อ 2 และข้อ 3 มิได้กำหนดว่าการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์จะต้องแนบบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ผู้แต่งตั้งผู้แทนโจทก์มาด้วย ที่โจทก์ใช้แบบพิมพ์ รง.7 มีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมดแนบเสนอต่อศาลแรงงานกลาง แม้ไม่มีบัตรประชาชนแนบมาด้วยก็เป็นการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ที่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
บันทึกการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ตามแบบพิมพ์ ร.ง.7 นี้ เป็นแบบพิมพ์ของทางราชการที่เป็นไปตามข้อกำหนดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้โจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีแรงงานที่ศาลแรงงานแทนโจทก์ที่แต่งตั้ง มิใช่เป็นใบมอบอำนาจตามข้อ 7 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จึงไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ดังกล่าวไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยคืนและจ่ายเงินประกัน เงินสะสม เงินสมทบและดอกเบี้ย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทุก 15 วันแก่โจทก์ดังกล่าว รายละเอียดวันเข้าทำงาน วันเลิกจ้าง อัตราค่าจ้างสุดท้ายเงินประกัน เงินสะสม เงินสมทบและดอกเบี้ย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ปรากฏตามคำฟ้องและบัญชีสำหรับรวมพิจารณาคดีท้ายคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่เข้ารับการอบรมตามระยะเวลาที่จำเลยกำหนดค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินสะสมตามฟ้องไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามยกเว้นโจทก์ที่ 9 ที่ 13 ที่ 30 ที่ 36 ที่ 41 ที่ 47 ที่ 51 ที่ 68 ที่ 69 ที่ 74 ที่ 77ที่ 79 ที่ 112 ที่ 136 ที่ 138 ที่ 142 ที่ 150 ที่ 151 ที่ 153 ที่ 158 ที่ 159ที่ 163 ที่ 166 ที่ 177 ที่ 185 ที่ 242 ที่ 243 ที่ 260 ที่ 270 ที่ 286 ที่ 289ที่ 292 ที่ 299 และที่ 302 เป็นลูกจ้างจำเลยทำงานติดต่อกันเกินสามปีคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อลูกจ้าง เรื่องได้ดำเนินไปจนถึงขั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงปิดงานตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม2540 ส่วนลูกจ้างทั้งหมดได้ชุมนุมอยู่หน้าบริเวณโรงงาน ต่อมาวันที่ 19มกราคม 2541 จำเลยเปิดงานให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ โดยให้ลูกจ้างไปรายงานตัวเพื่อเข้าอบรมที่บริษัทจำเลย สาขาวังน้อยอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่หนึ่งและสองของการอบรมโจทก์และลูกจ้างอื่นไปกันครบ หลังจากนั้นไม่ได้ไปกันอีกโดยไปชุมนุมอยู่หน้าบริเวณโรงงานตามเดิม เพราะไม่มีวิทยากรมาอบรมแต่อย่างใดและสถานที่อบรมเป็นสถานที่กำลังก่อสร้าง ไม่มีความปลอดภัยจนเจ้าพนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องปิดประกาศคำเตือนห้ามมิให้เข้าไปในเขตอันตรายดังกล่าว ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2541 จำเลยปิดประกาศเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด 435 คนรวมทั้งโจทก์คดีนี้ เหตุดังกล่าวศาลแรงงานกลางได้เคยวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วยการจัดให้ลูกจ้างไปอบรมยังสถานที่ที่อยู่ห่างไกลโดยไม่จัดรถรับส่งเพื่อไม่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานลูกจ้างก็ได้มาที่โรงงานทุกวันและลงลายมือชื่อการมาและกลับไว้ที่บริเวณหน้าโรงงานเนื่องจากเข้าโรงงานไม่ได้ ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างรวมทั้งโจทก์คดีนี้ละทิ้งหน้าที่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ดังกล่าวมิได้กระทำความผิดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและคืนเงินประกัน เงินสะสม เงินสมทบ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดังกล่าวส่วนดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานออกตามความประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งมีผลใช้บังคับขณะเลิกจ้างไม่ได้บัญญัติไว้ จึงต้องใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 ประกอบด้วยมาตรา 224 พิพากษาให้จำเลยจ่ายและคืนเงินประกันเงินสะสม เงินสมทบและดอกเบี้ย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามตารางท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 ตุลาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ 9 ที่ 13 ที่ 30 ที่ 36 ที่ 41 ที่ 47 ที่ 51 ที่ 68ที่ 69 ที่ 74 ที่ 77 ที่ 79 ที่ 112 ที่ 136 ที่ 138 ที่ 142 ที่ 150 ที่ 151 ที่ 153 ที่ 158 ที่ 159 ที่ 163 ที่ 166 ที่ 177 ที่ 185 ที่ 242 ที่ 243 ที่ 260 ที่ 270ที่ 286 ที่ 289 ที่ 292 ที่ 299 และที่ 302

จำเลยทั้งสามร้อยสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสามร้อยสิบสามตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีนี้โดยมิได้แนบบัตรประจำตัวประชาชนและมิได้ปิดอากรแสตมป์ เป็นการตั้งผู้แทนโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การตั้งผู้แทนโจทก์นั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีโจทก์หลายคนศาลจะจัดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้

วิธีการแต่งตั้งผู้แทนตามวรรคสามให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 29″ ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางโดยได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกาได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 ข้อ 2 กำหนดว่า”วิธีการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีให้ศาลจัดให้โจทก์ที่มาศาลในวันนั้นตกลงเลือกกันเองตามจำนวนที่ศาลกำหนดตามข้อ 1 ก่อนแล้วเสนอชื่อเพื่อศาลทราบและบันทึกรายชื่อไว้

ในกรณีที่โจทก์ไม่อาจตกลงเลือกกันเองได้ ศาลอาจกำหนดให้โจทก์ที่มาศาลในวันนั้นเลือกโดยการลงคะแนนเสียงหรือโดยวิธีอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้

ให้โจทก์ที่ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่งและวรรคสองตามจำนวนที่ศาลกำหนดตามข้อ 1 เป็นผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีต่อไป”

ข้อ 3 กำหนดว่า “ในกรณีที่มีการยื่นคำฟ้องหรือมาแถลงข้อหาด้วยวาจาและมีบันทึกแสดงการแต่งตั้งมอบหมายให้โจทก์คนหนึ่งหรือหลายคนดำเนินคดีแทนโดยมีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมดแนบหรือแสดงต่อศาล หากศาลเชื่อว่าเป็นบันทึกแสดงการแต่งตั้งมอบหมายที่แท้จริง ก็ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตามบันทึกดังกล่าวเป็นผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดี

บันทึกแสดงการแต่งตั้งมอบหมายตามวรรคหนึ่ง จะใช้แบบพิมพ์ร.ง.7 ท้ายข้อกำหนดนี้ก็ได้”

บทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวมิได้กำหนดว่าการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์จะต้องแนบบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ผู้แต่งตั้งผู้แทนโจทก์มาด้วย ดังนั้น ที่โจทก์ในคดีนี้ได้ใช้แบบพิมพ์ ร.ง.7มีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมดแนบเสนอต่อศาลแรงงานกลางแม้จะมิได้มีบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์แนบมาด้วย ก็เป็นการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีแล้ว ส่วนการปิดอากรแสตมป์นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า “ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น” ซึ่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ได้ระบุลักษณะแห่งตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ไว้ในข้อ 7 ใบมอบอำนาจคือใบตั้งตัวแทนซึ่งมิได้กระทำในรูปลักษณะตราสารสัญญารวมทั้งใบตั้งอนุญาโตตุลาการต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ดังนี้ (ก) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียวจำนวน 10 บาท (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวจำนวน30 บาท (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกัน ให้คิดตามรายการตัวบุคคลที่รับมอบคนละจำนวน 30 บาท แต่บันทึกการแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ตามแบบพิมพ์ ร.ง.7 นั้นเป็นแบบพิมพ์ของราชการที่เป็นไปตามข้อกำหนดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้โจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีแรงงานที่ศาลแรงงานแทนโจทก์ที่แต่งตั้งมิใช่เป็นใบมอบอำนาจตามข้อ 7แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 การแต่งตั้งผู้แทนโจทก์ คดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของศาลแรงงานกลางแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามร้อยสิบสามสำนวนฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share