คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“สิทธิในวิธีการประดิษฐ์” หรือ “สิทธิเปเต้นท์” ในขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายไทยก่อตั้งคุ้มครองจึงไม่ได้ชื่อว่าเป็น”สิทธิตามกฎหมาย”จึงไม่อาจก่อให้เกิดเป็นมูลละเมิดที่จะเรียกร้องให้บังคับบัญชาทางศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ค้นคว้าพบยารักษาโรคขนานใหม่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า”อ๊อกซิเททราซายคลีน” และได้ผลิตยานี้ให้สหรัฐอเมริกา โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สิทธิและสิทธิในวิธีประดิษฐ์และทำยานี้ ได้จดทะเบียนเปเต้นท์ไว้ในสหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักและนิยมของคนทั่วไป โดยโจทก์ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าว่า “เทอร์ราไมซิน”และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย โจทก์ผู้ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมานาน ในประเทศไทยยังไม่มีสำนักงานรับจดทะเบียนเปเต้นท์แต่จำเลยเป็นผู้ค้าเครื่องเวชภัณฑ์ ทราบดีว่าโจทก์เป็นเจ้าของสิทธิประดิษฐ์เภสัชภัณฑ์นี้แต่ผู้เดียว จำเลยก็ยังทำการเป็นตัวแทนของผู้ละเมิด ผู้ปรุงแต่งประดิษฐ์เภสัชภัณฑ์ขนานเดียวกันนี้ในต่างประเทศ คือ บริษัท อาร์.พี.เซลเลอร์ จำกัด แห่งเยอรมัน โดยสั่งเข้ามาหรือมีไว้จำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งเภสัชภัณฑ์อ๊อกซิเททราซายคลีนหรือที่เรียกว่าเทอร์ราไมซิน ภายใต้ชื่ออ๊อกซิลิม เป็นการละเมิดสิทธิบัตรหรือเปเต้นท์ของโจทก์ เป็นการลวงให้ประชาชนหลงว่าเป็นวัตถุที่โจทก์ปรุงเแต่งหรือประดิษฐ์ขึ้น ทำให้โจทก์เสียหายในทรัพยสิทธิจึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์ผู้เดียวเป็นเจ้าของสิทธิในการประดิษฐ์ขึ้นซึ่งเภสัชภัณฑ์อันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า อ๊อกซิเททราซายคลีน ห้ามจำเลยประดิษฐ์หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือมีไว้จำหน่ายซึ่งเภสัชภัณฑ์นี้
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สิทธิเปเต้นท์”ที่โจทก์อ้างนี้เป็นเพียงนามธรรม ไม่มีรูปร่างและเมื่อ”สิทธิในวิธีการประดิษฐ์”หรือ”สิทธิเปเต้นท์”เช่นที่โจทก์อ้างในขณะนี้ยังไม่ปรากฎว่ามีกฎหมายไทยก่อตั้งและคุ้มครอง จึงหาได้ชื่อว่าเป็น”สิทธิตามกฎหมาย”ไม่ จึงเป็นเรื่องนอกกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจถือเอาเป็นของตน เรียกไม่ได้ว่าถูกทำให้เสียหายแก่สิทธิของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ จึงไม่อาจก่อให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดที่จะเรียกร้องให้บังคับบัญชาทางศาลได้ และเมื่อไม่อาจถือเอาเป็นของตนได้ จึงมิใช่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙ และจึงไม่อาจมีสิทธิในสิ่งหรือสิทธิขัดขวางห้ามตามมาตรา ๑๓๓๖ อำนาจฟ้องตามสารบัญญัติของโจทก์จึงไม่มี และเมื่อมิใช่”สิทธิตามกฎหมาย”อำนาจเสนอคดีตามวิธีบัญญัติของโจทก์ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕) จึงไม่มีเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share