คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องของผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาลยกเลิกการขายทอดตลาดที่ได้ขายไปแล้ว โดยอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องประสงค์จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยอ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งกรณีจะเป็นเรื่องของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองนั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง ขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนแต่ตามคำร้องของผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างเลยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. แต่ประการใด เพียงแต่กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์และธนาคารที่รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวได้รับจำนองไว้โดยไม่สุจริตจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองนั้น หากเป็นความจริงก็มิใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่อาจยกเหตุที่ผู้ร้องอ้างมาเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
การที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้องได้นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2535 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่18992 ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างทะเบียนเลขที่ 865 หมู่ที่ 8 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้นายอินทรผู้เสนอราคาสูงสุด ในราคา 620,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ผู้ร้องเข้าทำประโยชน์โดยปลูกบ้านพักอาศัยตั้งแต่ประมาณปี 2523 และครอบครองตลอดมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดมาโต้แย้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่เป็นของผู้ร้อง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดี คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏว่า โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้สมคบกันขายทอดตลาดโดยมีเจตนาไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยื่นเกิน 15 วัน นับแต่มีการขายทอดตลาด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ระหว่างไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องรับว่าที่ดินโฉนดดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัย จึงให้งดการไต่สวนคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายไปแล้วหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับคดีคือการขายทอดตลาดที่ได้ขายไปแล้ว โดยอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องประสงค์จะให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งกรณีจะเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองนั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีบุคคลดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง ขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนได้ แต่ตามคำร้องของผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างเลยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ประการใด เพียงแต่กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์และธนาคารที่รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวได้รับจำนองไว้โดยไม่สุจริตจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองนั้น หากเป็นความจริงก็มิใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อาจยกเหตุที่ผู้ร้องอ้างมาเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ และหากจะถือว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์ที่ถูกยึดมิใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่เป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องจึงขอคืนได้โดยอ้างว่าเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมาด้วยนั้น เห็นว่า การที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้องได้นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นเป็นการชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share