แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า การประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่มีต่อโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายผิดสัญญาและเป็นการละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าเสียหาย อันเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในลักษณะละเมิดและผิดสัญญา มิใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินชดเชยความเสียหายเพียงประการเดียวจึงไม่อยู่ในบังคับของเงื่อนไขในการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 68 ทศโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ สัมปทานทำไม้เป็นการอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิทำไม้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น มิใช่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยออกคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้หวงห้ามทุกชนิดทั่วประเทศรวมทั้งของโจทก์สิ้นสุดลง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 ทวิแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เงินประกันการปฏิบัติตามสัมปทานการทำไม้หวงห้ามเป็นเงิน ที่โจทก์ผู้รับสัมปทานวางไว้เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ จะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัมปทาน ผู้ให้ สัมปทานจะริบได้ต้องเป็นกรณีมีการเพิกถอนสัมปทานโดย ผู้รับสัมปทานปฏิบัติผิดข้อกำหนดหรือเงื่อนไขตามสัมปทานการทำไม้ ข้อ 33 เท่านั้น แต่กรณีที่รัฐบาลออกกฎหมายและมีคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้ทั่วประเทศสิ้นสุดลง มิใช่เป็นการสั่งเพิกถอนตามสัมปทานข้อ 33 จึงไม่มีสิทธิที่จะริบเงินประกันต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 68 อัฏฐแล้ว แต่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงบางส่วน โจทก์ไม่พอใจ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยตามมาตรา 68 ทศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 และได้นำคดีมาฟ้องจำเลยในวันที่ 22 มกราคม 2533 ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่จะวินิจฉัยเป็นการยื่นฟ้องที่ผิดขั้นตอนของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลในส่วนที่เกี่ยวกับเงินชดเชยค่าจ้างคนงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก (ไม้กระยาเลย) จากรัฐบาล โดยเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 รวม 6 สัญญาสัมปทาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดตากทั้งหมด คือ ป่าโครงการตก. 7, ตก.10, ตก.11 ถึง ตก.14มีกำหนดระยะเวลาโครงการละ 30 ปี และสิ้นสุดพร้อมกันทุกโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2546 ต่อมาเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2531 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีผู้บริหารรับผิดชอบ ได้ใช้อำนาจหน้าที่บริหารโดยมิชอบเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนแปลงนโยบายให้สัมปทานป่าไม้จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484ประกาศใช้บังคับตามความประสงค์และข้อเสนอของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้อาศัยบทบัญญัติตามมาตรา 68 ทวิ ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว ออกคำสั่งที่32/2532 ลงวันที่ 17 มกราคม 2532 ให้สัมปทานการทำไม้หวงห้ามทุกชนิดทั่วประเทศรวมทั้งของโจทก์สิ้นสุดลงโดยอ้างเหตุแห่งความจำเป็นที่ต้องใช้พื้นที่ป่าไม้ในเขตสัมปทานเพื่อรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม หลังจากที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้ของโจทก์สิ้นสุดลง โจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้แต่กรมป่าไม้ชดใช้ค่าเสียหายให้เพียงบางส่วนโจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 และหากรอคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองอาจทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความการกระทำของจำเลยทั้งสองนอกจากจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้วยังเป็นการผิดสัญญาสัมปทานอีกทางหนึ่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับ เงินประกันตามเงื่อนไขสัมปทาน และค่าแรงคนงานที่ต้องเลิกจ้างสำหรับป่าโครงการ ตก.7 เป็นเงินทั้งสิ้น 96,286,834 บาทสำหรับป่าโครงการ ตก.10 เป็นเงินทั้งสิ้น 11,934,000 บาทสำหรับป่าโครงการ ตก.11 เป็นเงินทั้งสิ้น 623,469,400 บาทสำหรับป่าโครงการ ตก.12 เป็นเงินทั้งสิ้น 57,844,315 บาทสำหรับป่าโครงการ ตก.13 เป็นเงินทั้งสิ้น 43,580,700 บาทสำหรับป่าโครงการ ตก.14 เป็นเงินทั้งสิ้น 23,340,000 รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 856,555,349 บาท โจทก์ถือว่าไม่มีเหตุที่จะยกเลิกสัมปทานตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์สัญญาสัมปทานจึงยังไม่สิ้นสุด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยให้โจทก์มีสิทธิเข้าไปทำไม้ตามที่ได้รับสัมปทาน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องก็ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัมปทานทำไม้มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาเหตุที่จำเลยมีคำสั่งให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้ทั้งหมดเป็นเพราะการเกิดอุทกภัยร้ายแรงในภาคใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 ทำให้มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรเป็นจำนวนมากและสาเหตุที่สำคัญเกิดจากพื้นที่ป่าถูกทำลายจนเกิดสภาวะการขาดความสมดุลทางธรรมชาติอันถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินและยังเป็นการออกคำสั่งไปโดยสุจริตตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากป่าไม้ทั่วประเทศมีเหลือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้แห่งชาตินอกจากนี้โจทก์ยังนำคดีมาฟ้องโดยผิดขั้นตอนเพราะยังไม่ครบกำหนดหกสิบวัน อันเป็นระยะที่กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีวินิจฉัยหรือมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 68 อัฏฐ,68 ทศ, และมาตรา 68 เอกาทศ โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนค่าแรงงานชดเชยที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นเงิน 2,964,400 บาท นั้น โจทก์ไม่ได้จ้างคนงานมากถึงขนาดต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้อง ค่าแรงงานชดเชยไม่ควรเกิน 10,000 บาท และยังเป็นเงินชดเชยตามมาตรา 68 สัตต(1)(ค) ซึ่งโจทก์ได้แต่ยื่นคำขอเรียกร้องโดยไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกันจำนวน320,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 เมษายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขอนอกจากนี้ให้ยกยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2516 โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก จำนวน 6 สัมปทาน จากรัฐบาล โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้ลงชื่อผู้ให้สัมปทาน มีกำหนดระยะเวลาสัมปทานละ 30 ปีจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2546 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.26ถึง จ.31 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484พ.ศ. 2532 จำเลยทั้งสองได้อาศัยบทบัญญัติมาตรา 68 ทวิแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ที่แก้ไขแล้วดังกล่าว ออกคำสั่งที่ 32/2532ลงวันที่ 17 มกราคม 2532 ให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิดทั่วประเทศรวมทั้งของโจทก์ด้วยสิ้นสุดลง โจทก์ได้รับคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2532 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้ขอให้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 จำเลยทั้งสองได้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับเงินชดเชยความเสียหายเพียงบางส่วน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 โจทก์ไม่พอใจ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีกระทรวงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.59 และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่22 มกราคม 2533 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบต่อสู้ในข้อนี้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ได้ยื่นขอเงินชดเชยความเสียหายและคณะกรรมการที่กรมป่าไม้แต่งตั้งได้พิจารณาให้เงินชดเชยความเสียหายแก่โจทก์และได้แจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบแล้วตามเอกสารหมาย ล.14, ล.15โจทก์ไม่พอใจ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล.16 แต่โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2533 ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย เห็นว่า ตามคำฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องพอสรุปได้ว่าการประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่แก้ไขแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายผิดสัญญาและเป็นการละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง อันเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในลักษณะละเมิดและผิดสัญญา มิใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินชดเชยความเสียหายเพียงประการเดียวกรณีไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 68 ทศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ปัญหาประการต่อไปมีว่า สัมปทานการทำไม้ตามฟ้องเป็นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้สัมปทานตามฟ้องสิ้นสุดลง เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ในปัญหาว่าสัมปทานการทำไม้เป็นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่นั้น คำว่า “สัมปทาน” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การอนุญาตให้มีสิทธิที่จะทำได้แต่ผู้เดียวในกิจการบางอย่างเช่นเหมืองแร่และป่าไม้และตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ได้บัญญัติไว้ว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รัฐบาลมีอำนาจให้สัมปทานในการทำไม้ชนิดใด หรือเก็บของป่าอย่างใดในป่าใดโดยมีขอบเขตเพียงใดและในสัมปทานนั้นจะให้มีข้อกำหนดและเงื่อนไขอย่างใดก็ได้” เมื่อพิเคราะห์เนื้อความในสัมปทานทำไม้หวงห้ามตามเอกสารหมาย จ.26 ถึง จ.31 แล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่ 1 ให้บริษัทตากทำไม้ จำกัด โจทก์เช้าทำไม้หวงห้ามภายในเขตพื้นที่ที่กำหนดโดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขให้โจทก์ต้องปฏิบัติด้วย และตามข้อกำหนดในสัมปทาน โจทก์เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่โดยเสียผลตอบแทนให้รัฐบาลเพียงเล็กน้อยเป็นเงินค่าภาคหลวงและค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ของสัมปทานการให้สัมปทานเป็นวิธีการอนุญาตวิธีหนึ่งซึ่งผู้ได้รับสัมปทานมีสิทธิที่จะทำกิจการที่ได้รับสัมปทานโดยไม่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน ดังนี้ สัมปทานทำไม้ตามฟ้องจึงเป็นเอกสารการอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิทำไม้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น มิใช่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่วนปัญหาที่ว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้สัมปทานตามฟ้องสิ้นสุดลงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้นโจทก์นำสืบว่า คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 32/2532 ลงวันที่ 17 มกราคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.8เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามที่อ้างว่าปัจจุบันพื้นที่ถูกทำลายและเสื่อมโทรมจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะการขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อมนั้นไม่เป็นความจริง เพราะป่าไม้ที่โจทก์ไม่ได้รับสัมปทานยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีกำลังผลิตสูงแม้จะให้ทำไม้ต่อไปก็ไม่ทำให้ป่าเสื่อมสภาพ เกิดสภาวะการขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อม ป่าที่โจทก์ได้รับสัมปทานก็มิใช่ป่าต้นน้ำลำธารหรือป่าที่ถูกบุกรุกทำลายหรือป่าสาธิต ทั้งการอนุญาตให้ทำไม้โดยการเลือกตัด ในทางวิชาการป่าไม้ ไม่เป็นการทำลายป่าแต่กลับเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ครบวงจร จำเลยทั้งสองนำสืบในข้อนี้ว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2531 ได้เกิดอุทกภัยทางภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรเป็นจำนวนมาก สาเหตุเกิดเพราะการตัดไม้ทำลายป่า ทางรัฐบาลให้หยุดทำสัมปทานเพราะมีนโยบายที่จะปิดป่า ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7 แผ่นที่ 3 และที่ 4ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 1/2531 ให้หยุดการทำไม้ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.8 นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พ.ศ. 2532 โดยมีเงื่อนไขพิเศษคือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งปิดป่าทั่วประเทศได้ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและความสมดุลทางธรรมชาติ หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงได้ออกคำสั่งที่ 32/2532 ให้ปิดป่าทั่วประเทศปรากฏตามเอกสารหมาย ล.10 เห็นว่า การออกคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8 (ล.10) เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวที่ได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงจนเป็นเหตุให้เกิดสภาวะการขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อม กรณีเป็นการจำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าไม้ในเขตสัมปทานเพื่อรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม ซึ่งการรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมนี้เป็นการกระทำเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดการเสื่อมโทรมเพราะถูกบุกรุกทำลายป่าและกรณีเป็นการจำเป็นต้องกระทำเพื่อเป็นการป้องกันเหตุที่จะเกิดไว้ก่อน มิใช่ปล่อยให้เกิดเหตุขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยแก้ไขในภายหลัง ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างมากมายดังเหตุที่เกิดอุทกภัยร้ายแรงทางภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 เป็นต้น ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่จะแสดงว่า จำเลยทั้งสองออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการออกโดยกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย หาเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ และเมื่อเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์เสียหายและมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้ตามคำฟ้อง โจทก์เรียกค่าเสียหายมา 3 ส่วน คือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากสัมปทานทำไม้ทั้ง 6 สัมปทาน เป็นจำนวนเงิน 853,735,349 บาท เงินประกันการปฏิบัติตามสัมปทานจำนวน 320,000 บาท และค่าชดเชยแรงงานที่ต้องเลิกจ้างเป็นจำนวน 2,500,000 บาท เห็นว่า จำนวนเงินในส่วนผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 32/2532 โดยมิชอบเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งดังกล่าวจำเลยทั้งสองออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินส่วนนี้ ส่วนเงินประกันการปฏิบัติตามสัมปทานนั้นจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า คำสั่งที่ 32/2532 ที่ให้สัมปทานทุกสัมปทานสิ้นสุดลง รวมทั้งสัมปทานของโจทก์ด้วย มีผลเท่ากับเป็นการออกคำสั่งเพิกถอนสัมปทานตามสัมปทานข้อ 31(1) กรมป่าไม้มีอำนาจริบเงินประกันดังกล่าวเสียได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า เงินประกันที่โจทก์เรียกร้องคือเงินที่โจทก์วางไว้เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์จะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัมปทานผู้ให้สัมปทานจะริบได้ต้องเป็นกรณีมีการเพิกถอนสัมปทานเท่านั้น และการเพิกถอนสัมปทานนี้จะต้องเป็นกรณีผู้รับสัมปทานปฏิบัติผิดข้อกำหนดหรือเงื่อนไขตามสัมปทานการทำไม้ ข้อ 33 แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลออกกฎหมายและมีคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้ทั่วประเทศสิ้นสุดลง มิใช่เป็นการสั่งเพิกถอนตามสัมปทานข้อ 33 กรมป่าไม้ไม่มีสิทธิที่จะริบเงินประกันตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเงินประกันไว้จึงต้องคืนให้แก่โจทก์ ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาโจทก์ว่า เงินประกันการปฏิบัติตามสัมปทานจำนวน320,000 บาท จำเลยที่ 1 โดยกรมป่าไม้ยินยอมคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์ยินยอมที่จะไปรับจากกรมป่าไม้เองตามเอกสารคำอุทธรณ์เรื่องเงินชดเชยที่โจทก์ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกสารท้ายคำให้การจำเลยซึ่งจำเลยได้อ้างส่งศาลไว้แล้ว ชอบที่ศาลจะยกฟ้องประเด็นข้อนี้นั้นเห็นว่า ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองนี้นอกจากจะขัดแย้งกับคำให้การแล้ว ยังเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงไม่วินิจฉัยให้
สำหรับเงินชดเชยค่าจ้างคนงานที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองจำนวน 2,500,000 บาท นั้น โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 68 อัฏฐ มาตรา 68 ทศ และมาตรา 68 เอกาทศ กล่าวคือ ต้องยื่นคำขอเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการสิ้นสุดของสัมปทาน เมื่อโจทก์ไม่พอใจในเงินชดเชยความเสียหายที่อธิบดีกรมป่าไม้และให้ทราบ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และหากโจทก์ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่รับอุทธรณ์ ให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วแต่กรณี แต่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้ตามมาตรา 68 อัฏฐแล้ว แต่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงบางส่วน โจทก์ไม่พอใจ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งสองตามมาตรา 68 ทศ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 และได้นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 22 มกราคม 2533 ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่จะวินิจฉัย ดังนี้ การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก่อนที่รัฐมนตรีจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์หรือก่อนที่จะพ้นกำหนดเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องที่ผิดขั้นตอนของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลในส่วนที่เกี่ยวกับเงินชดเชยค่าจ้างคนงานศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในส่วนนี้ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น