แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดพ.ศ. 2507 ที่จำเลยนำมาใช้บังคับแก่พนักงานและลูกจ้างของจำเลยในระหว่างที่จำเลยยังไม่ออกข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จมาใช้บังคับนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยออกข้อบังคับ ฉบับที่32 มาใช้บังคับแตก ต่างออกไป ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินบำเหน็จเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ เพราะตามระเบียบเดิม กรณีของโจทก์ที่ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุโจทก์มีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย แต่ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 32 โจทก์กลับมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 เท่านั้น จึงนำมาใช้บังคับในกรณีของโจทก์ไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 20 แม้จำเลยจะได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์รับไปตามข้อบังคับดังกล่าว ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยจำเลยมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยค่าชดเชยจำนวน 36,990 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษีณอายุเป็นการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามผลของกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้าง การเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น ถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนอกจากนี้จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จข้อ 21 รวมเป็นเงิน 41,055 บาท โดยแยกเป็นค่าชดเชย 36,990 บาท กับเงินบำเหน็จ4,065 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 36,990 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…เดิมโจทก์เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อจำเลยถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2520โจทก์ได้โอนมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย บริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด ได้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงาน พ.ศ.2517 ลงวันที่19 ตุลาคม 2507 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยได้นำระเบียบดังกล่าวมาใช้ในระหว่างที่จำเลยยังไม่มีระเบียบข้อบังคับฉบับที่ 32 ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 32ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2525 กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานและลูกจ้างของจำเลยขึ้นใช้บังคับปรากฎตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 แต่คณะกรรมการลูกจ้างองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยคัดค้านไม่ยอมรับข้อบังคับฉบับนี้เพราะเห็นว่า เงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับฉบับนี้ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างเท่ากับที่จะได้รับตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จ5 นักงาน ของบริษัทไทยทัศน์ จำกัด พ.ศ.2507 ลงวันที่ 19 ตุลาคมที่ใช้บังคับอยู่เดิม ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.2 ศาลฎีกาเห็นว่าระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานของบริษัทไทยทัศน์ จำกัด พ.ศ.2507ที่จำเลยนำมาใช้บังคับแก่พนักงานและลูกจ้างของจำเลยในระหว่างที่จำเลยยังไม่ออกข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จใช้บังคับนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อจำเลยออกข้อบังคับ ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จขึ้นมาใช้บังคับแตกต่างออกไป ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานของบริษัทไทยทัศน์ จำกัดพ.ศ.2507 ที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์เพราะตามระเบียบเดิมกรณีของโจทก์ที่ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แต่ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 32 โจทก์กลับมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเท่านั้น จึงนำมาใช้บังคับในกรณีของโจทก์นี้โดยเฉพาะไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518แม้จำเลยจะได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์รับไปตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 32 ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีกคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.