คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมี 3,4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยเมื่อจำเลยลงจากเครื่องบินของสายการบินที่จำเลยโดยสารมาจากเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเปลี่ยนเครื่องบินไปยังเมืองไทเป ดินแดนไต้หวัน ขณะจำเลยเดินผ่านห้องผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยจึงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 , 7 , 8 , 15 , 65 , 66 และ 102 ป.อ. มาตรา 32 , 33 , 80 และ 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามี 3,4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง , 66 วรรคสอง และ 102 จำคุกตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมี 3,4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยได้นำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวมาจากเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะไปยังเมือไทเป ดินแดนไต้หวัน แต่เนื่องจากเครื่องบินของสายการบินที่จำเลยโดยสารมานั้นมีความจำเป็นต้องจอดและพักเครื่องที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นเหตุให้จำเลยถูกจับกุมมาดำเนินคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ จำเลยเบิกความรับว่า จำเลยนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวไปส่งให้แก่ลูกค้าที่เมืองไทเป ดินแดนไต้หวัน ซึ่งต้องแวะเพื่อเปลี่ยนและส่งผู้โดยสารที่กรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยจึงเดินลงจากเครื่องบินลำดังกล่าวผ่านห้องผู้โดยสารขาออกเพื่อจะไปขึ้นเครื่องบินอีกลำหนึ่ง ขณะที่เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ มีสัญญาเตือนดังขึ้น เจ้าพนักงานจึงตรวจค้นจำเลย ขณะที่ตรวจค้นพบยาเสพติดให้โทษดังกล่าว จำเลยลงจากเครื่องบินมาอยู่ในอาคารผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยจึงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร จำเลยต้องรับโทษตามกฎหมายไทยตาม ป.อ. มาตรา 4
พิพากษายืน.

Share