คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสร่วมกันออกเงินเช่าซื้อที่ดินในนามจำเลยจนได้กรรมสิทธิ์ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของคนละครึ่ง
แม้โจทก์จะไม่มีหนังสือตั้งจำเลยเป็นตัวแทนเช่าซื้อที่ดิน (ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ) จำเลยก็มีหน้าที่ต้องคืนประโยชน์ให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเมื่อโจทก์เรียกร้อง จำเลยจะยกเอาเหตุการณ์ตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือขึ้นอ้างหาได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ 262/2493)
หนังสือซึ่งไม่มีข้อความแสดงถึงการระงับข้อพิพาท ไม่อาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดี (ในฐานะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ) ไม่ได้
บุตรนอกกฎหมายซึ่งบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรแล้ว จะฟ้องบิดาซึ่งเป็นผู้บุพพการีมิได้ เป็นคดีอุทลุมต้องห้าม แม้บุตรยังเป็นผู้เยาว์และมีผู้แทนโดยชอบธรรมผู้แทนโดยชอบธรรมก็ไม่มีอำนาจฟ้องแทนดุจเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เป็นสามีภริยากับจำเลยโดยไม่ได้จดทะเบียนเกิดบุตรด้วยกัน ๕ คน ยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว โจทก์ให้จำเลยเช่าซื้อที่ดินจากกรมตำรวจ ๑ แปลงแทนด้วยเงินของโจทก์ ต่อมาจำเลยไปติดพันหญิงอื่น โจทก์จำเลยจึงตกลงกันให้บุตรทั้งห้าเข้าถือกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับจำเลยแต่รอโฉนดซึ่งแบ่งแยก เมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จ จำเลยกลับใส่จำเลยเป็นเจ้าของโฉนดคนเดียว และไม่อุปการะเลี้ยงดูบุตร ขอให้พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ หรือให้โจทก์และบุตรทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์ ให้จำเลยเสียค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ ๘๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่พิพาทเป็นส่วนตัว และได้ให้ที่ดินอื่นแก่บุตรทั้งห้าเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงพอแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกะประเด็นนำสืบ ๒ ข้อ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นว่าโจทก์จะดำเนินคดีที่ศาลนั้นไม่ได้ เมื่อพิจารณาเสร็จ ฟังว่าโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของที่พิพาทคนละกึ่งการที่โจทก์ตัวการเรียกเอาผลประโยชน์จากจำเลยตัวแทน ไม่จำต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ แต่เอกสารหมาย จ.๔๖ ซึ่งจำเลยขอให้ใส่ชื่อบุตรในโฉนดที่พิพาท เป็นคำมั่นจะให้ทรัพย์สินตามมาตรา ๕๒๖ เมื่อมิได้จดทะเบียน จึงบังคับไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยโอนแบ่งที่พิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของที่พิพาทคนละกึ่ง แต่เห็นว่าเอกสารหมาย จ.๔๖ เป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่คำมั่นจะให้ทรัพย์สิน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ บุตรทั้งห้าโดยนางชลอในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยลงชื่อบุตรในโฉนดได้พิพากษาแก้ให้จำเลยเอาชื่อโจทก์ (บุตรทั้งห้า) ลงในโฉนดที่พิพาทถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย (เฉพาะส่วนของจำเลย)
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหนังสือแต่งตั้งตัวแทนให้จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อที่พิพาทแทน และตามหลักฐานการเช่าซื้อเห็นได้ชัดว่าจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในกรณีที่ตัวการเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากการที่ตัวแทนกระทำแม้การตั้งตัวแทนไม่มีหนังสือ ตัวแทนก็มีหน้าที่คืนประโยชน์ให้ตัวการตัวแทนจะยกเอาเหตุการตั้งตัวแทนไม่มีหนังสือมาอ้างหาได้ไม่ ตามแบบอย่างฎีกาที่ ๒๖๒/๒๔๙๓ และฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยต่างร่วมออกเงินค่าเช่าซื้อที่พิพาท โจทก์จึงมีสิทธิเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง ข้อที่จำเลยฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.๔๖ ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๑ เพราะไม่มีข้อความแสดงถึงการระงับข้อพิพาทอย่างใดเลย แม้โจทก์จำเลยจะได้มีการพูดจากตกลงประนีประนอมกันจริง แต่โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องบังคับคดีได้
นอกจากนี้ คำฟ้องคดีนี้แม้จะถือว่านางชลอได้ฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ด้วยก็ตาม ฟ้องในส่วนนี้ก็เป็นอุทลุม เพราะมีผลเป็นการฟ้องผู้บุพพการี ศาลจะรับฟ้องไว้มิได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.๔๖ เป็นคำมั่นจะให้ทรัพย์สินซึ่งไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๕๒๖ หรือเป็นสัญญาซึ่งตกลงจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา ๓๗๔ ทั้งไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share