คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้เลี้ยงดูในฐานะบิดากับบุตรโดยลงทะเบียนสำมะโนครัวว่าเป็นบุตรของตนและใช้นามสกุลของตนดังนี้พอฟังได้ว่าบิดาได้รับรองบุตรนอกกฎหมายนั้นเป็นบุตรของตนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 บุตรนั้นย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาตามมาตรา 1629(1)
ศาลจดรายงานพิจารณาตามคำแถลงของจำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรเพื่อขอรับส่วนแบ่งมรดกด้วยโจทก์แถลงไม่คัดค้านแล้ว ดังนี้โจทก์จักกลับมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าคำแถลงของจำเลยมิใช่เป็นคำร้องสอดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับขอให้จำเลยส่งค่าเช่านาเงิน 1,040 บาทแก่โจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแผนเจ้ามรดก มีบุตรด้วยกัน 3 คน ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายแผน

จำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ด.ญ.วันนา ด.ญ.ไพรี และด.ช.โกยบุตร ร้องสอดขอแบ่งมรดกนายแผนผู้เป็นบิดาเด็กทั้งสาม ศาลจดรายงานพิจารณาไว้ โจทก์ไม่แถลงคัดค้าน และแถลงไว้ในรายงานพิจารณาว่าด.ญ.วันนาไม่ใช่บุตรนายแผน (ได้ปิดแสตมป์คำร้องไว้ในรายงานพิจารณา)

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ด.ญ.วันนาไม่ใช่บุตรนายแผน ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์พิพาทพร้อมทั้งดอกผล 1,040 บาทให้โจทก์และให้โจทก์มอบมรดก 2 ใน 3 ส่วนให้แก่ ด.ญ.ไพรี ด.ช.โกย เป็นเงิน 3,040 บาทถ้าไม่ตกลงให้ประมูลราคาหรือขายทอดตลาด

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าให้โจทก์จำเลยในฐานะผู้แทน ด.ญ.ไพรี ด.ช.โกยประมูลหรือขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้สุทธิเท่าใดรวมกับเงิน 1,040 บาท แล้วแบ่งให้โจทก์ ด.ญ.ไพรี ด.ช.โกย คนละส่วนเท่า ๆ กัน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ด.ญ.ไพรี และด.ช.โกยเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายแผนก็ตาม แต่ได้ความว่านายแผนได้เลี้ยงดูในฐานบิดากับบุตร ลงทะเบียนสำมะโนครัวว่าเป็นบุตรนายแผน และใช้นามสกุลของนายแผน พอฟังได้ว่านายแผนได้รับรองเด็กสองคนนี้เป็นบุตรของนายแผนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และย่อมมีสิทธิได้รับมรดกนายแผนตามมาตรา 1629(1) ส่วนการที่ศาลจดรายงานพิจารณาตามคำแถลงของจำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ด.ญ.ไพรี ด.ช.โกยเพื่อขอรับส่วนแบ่งมรดกด้วยโจทก์ได้แถลงไม่คัดค้านแล้วจักกลับมาแถลงโต้เถียงในชั้นนี้ว่ามิใช่เป็นคำร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 จึงไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share