คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6967/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองนำใบถอนเงินซึ่งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตราประทับปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร แม้ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินและไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรเป็นฟ้องที่ขัดกัน เป็นฟ้องเคลือบคลุมและจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันยักยอก ดังนั้นเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรและฐานยักยอก เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ฎีกา โจทก์ร่วมซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 188, 264, 265, 268, 335, 341, 357 และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงิน 30,822,206.07 บาท แก่ผู้เสียหาย และลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 265, 268, 341, 357 กับให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้เงิน 8,092,579.77 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใต้เซ้งซัน ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 อนุญาตเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเอกสารโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงหรือรับของโจรด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 มาตรา 335 (11) วรรคแรก มาตรา 188 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยักยอกรวม 45 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างและฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 12 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การรับข้อเท็จจริงบางประเด็นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันยักยอก 90 ปี 135 เดือน แต่เนื่องจากความผิดฐานยักยอกมีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกินสามปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จึงลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ฐานลักทรัพย์นายจ้าง ลดโทษให้จำเลยที่ 1กระทงละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1เฉพาะความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ 24 ปี 36 เดือน แต่ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างมีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกินห้าปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จึงลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 30 ปีให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงิน 30,822,206.07 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นให้ยกส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ 335 (11) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทรวม 12 กระทง ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมจำคุก 9 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงิน 262,508 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมมีบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุรวงศ์ เลขที่ 054 – 2 – 22318 – 9และ 054 – 3 – 07689 – 9 ตามคำขอเปิดบัญชีและหนังสือมอบอำนาจ กับคำขอเปิดบัญชี และบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม เลขบัญชี 118 – 4 – 084224 ตามคำขอเปิดบัญชี และหนังสือมอบอำนาจ โดยนายทนงหุ้นส่วนผู้จัดการขณะนั้นมอบอำนาจให้นางสาววาสนาเบิกถอนเงินได้โดยลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วม นางสาววาสนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตรายางซึ่งเป็นคนละอันกับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นไม้ซึ่งนายทนงใช้อยู่ในใบถอนเงินแล้วเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมเลขบัญชีดังกล่าว แล้วนำเงินบางครั้งทั้งจำนวนและบางครั้งบางส่วนฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เปิดร่วมกับนางสาววาสนา บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เปิดร่วมกับนางสาววาสนา หรือเบิกเงินให้แก่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 รวม 60 รายการ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิ ฉ้อโกงกับรับของโจรและยักยอก ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ซึ่งจะได้วินิจฉัยพร้อมกันไปตามลำดับ โดยเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรหรือไม่ เห็นว่าตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมยืนยันว่าตราประทับซึ่งเป็นตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่ใช้ในใบถอนเงินของโจทก์ร่วมในคดีนี้ทั้งหมดเป็นตราประทับปลอมที่นางสาววาสนากับจำเลยทั้งสองใช้ในการถอนเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมไปโดยเป็นการยืนยันตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกงกับรับของโจรด้วย ดังนี้เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปตามฟ้องโจทก์นั้น แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทำพิธีทางการบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของโจทก์ร่วมก็ตามแต่เป็นเพราะโจทก์ยืนยันตามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกนำใบถอนเงินซึ่งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตราประทับปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ธนาคารดังกล่าวหลงเชื่อ เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับไปตามฟ้องจึงเป็นเงินของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มิใช่เงินของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก เพราะเหตุที่ได้กระทำความผิดดังกล่าวพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร แม้ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน โดยไม่มีการร้องทุกข์ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินและไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จึงให้เพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดใต้เซ้งซันเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงกับฐานร่วมกันรับของโจร และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวเสียด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรเป็นฟ้องที่ขัดกันเป็นฟ้องเคลือบคลุมและจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันยักยอก ดังนั้นเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรและฐานยักยอก เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ฎีกา โจทก์ร่วมซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ 335 (11) วรรคแรก กับยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงิน 262,508 บาท เสียด้วย ให้ยกฎีกาของโจทก์ร่วมในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงกับฐานร่วมกันรับของโจรและยักยอก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share