แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พยายามกระทำความผิดฐานใดย่อมอยู่ในความผิดฐานนั้นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ถือว่าเป็นเหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๙ และ ๒๙๓, ๖๐ ลงโทษในบทหนักคือฐานพยายามลักทรัพย์จำคุกจำเลยคนละ ๘ เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ อีก ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๒ คงจำคุก ๑๐ เดือน ๒๐ วัน ส่วนที่โจทก์ให้กักกันด้วยนั้นจำเลย ( ที่ ๑ ) มีผิดครั้งนี้แต่เพียงฐานบุกรุกและพยายามลักทรัพย์ซึ่งไม่เป็นเหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๔ จึงให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษกักกันจำเลยที่ ๑ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการพยายามทำผิดอย่างใดก็เป็นความผิดในฐานนั้นแยกกันไม่ออกการพยายามลักทรัพย์เป็นความผิดฐานประทุสร้ายแก่ทรัพย์และเป็นเหตุร้ายตามความในมาตรา ๔ พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย จึงพิพากษาแก้ให้เพิ่มโทษกักกันจำเลย ๑ ตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายมาตรา ๙ อีกโสดหนึ่งมีกำหนด ๓ ปี
จำเลยฎีกา ศาลรับฎีกาในข้อกฎหมายว่า พยายามลักทรัพย์เป็นเหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกันหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า พยายามกระทำความผิดเป็นการจะลดโทษแบ่งมาลงแก่จำเลยเป็นบางส่วนดังที่กฎหมายอาญามาตรา ๖๐ บัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามจะกระทำความผิด ฯลฯ ท่านว่ามันควรรับอาญา ตามที่กฎหมายกำหยดไว้สำหรับความผิดนั้น แบ่งเป็น ๓ ส่วน ให้ลงอาญาแต่ ๒ ส่วน ” เมื่อพยายามกระทำความผิดอันใดก็ลงโทษในความผิดนั้น เป็นแต่แบ่งส่วนลงบ้างเท่านั้น พยายามลักทรัพย์ย่อมอยู่ในความผิดฐานลักทรัพย์นั่นเอง เป็นเหตุร้ายได้ พระราชบัญญัติกักกันฯ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์