แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 บัญญัติว่า “ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ประกอบด้วยมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)
พุทธศักราช 2482 ท่านให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่” จึงต้องริบรถยนต์ ของกลางตามกฎหมายดังกล่าว ไม่อาจคืนให้แก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๖๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑ ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๖๖ เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพารถที่ยังมิได้เสียภาษีเข้ามาในราชอาณาจักร ปรับ ๕๖๓,๗๑๒ บาท ฐานไม่ยื่นรายการตามกฎกระทรวง เมื่อนำ รถเข้ามาในราชอาณาจักร ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท รวมปรับ ๕๗๓,๗๑๒ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๒๘๖,๘๕๖ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ โดยให้กักขังได้เกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับให้แก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานพารถที่ยังมิได้เสียภาษีเข้ามาในราชอาณาจักร ปรับ ๓๒๔,๐๐๐ บาท รวมกับโทษปรับฐานไม่ยื่นตามกฎกระทรวงเมื่อนำรถเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วรวมปรับ ๓๓๔,๐๐๐ บาท ลดโทษ ให้ กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๑๖๗,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย มีเหตุที่จะลดค่าปรับกับคืนรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ กฎหมายกำหนดระวางโทษปรับ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยกัน และศาลอุทธรณ์ภาค ๙ กำหนดโทษปรับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ถูกต้องแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะลดค่าปรับให้อีกได้ ส่วนรถยนต์ของกลางนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า “ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ ท่านให้ริบ เสียทั้งสิ้น โดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่” จึงต้องริบตามกฎหมายดังกล่าว ไม่อาจคืน ให้แก่จำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน