คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยมีใจความว่า ผู้เสียหายได้รับเงิน จำนวน 10,000 บาทจากจำเลยเป็นค่าชดใช้เงินที่ได้ฉ้อโกงไปจากผู้เสียหาย ซึ่งได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจแล้วผู้เสียหายไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ดังกล่าวอีกต่อไป ดังนี้ ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ลงโทษจำเลย ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 268 นั้น ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารที่ตนปลอมนี้ด้วยกรณีเช่นนี้มาตรา 268 วรรค 2 บัญญัติให้ลงโทษตาม มาตรา 268 แต่กระทงเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘, ๓๔๑, ๙๑ ริบของกลาง กับให้จำเลยใช้เงิน ๑๐,๐๐๐ บาทคืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๒๖๔ และตามมาตรา ๓๔๑ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้จำคุกกับให้จำเลยใช้เงิน ๑๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์และมีเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์เป็นเอกสารของร้านสหกรณ์กรุงเทพจำกัด ผู้เสียหายมีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้าได้รับเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท จากนางลออ เป็นค่าชดใช้ที่ได้ฉ้อโกงทรัพย์ไปจากร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ซึ่งได้แจ้งไว้ ณ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๗ ตามประจำวันข้อ ๑๐ ข. ไว้เรียบร้อยแล้ว ทางร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอาญากับนางลออจำเลยในความผิดที่ปรากฏการร้องทุกข์ดังกล่าวอีกต่อไป” ท้ายข้อความดังกล่าวนี้มีนายบรรหาร กรรมการผู้จัดการลงลายมือชื่อและประทับตราร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด โจทก์ได้รับสำเนาอุทธรณ์แล้ว มิได้แก้อุทธรณ์หรือแถลงคัดค้านว่า เอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ผู้เสียหายทำมอบให้จำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องฟังว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ เป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒) จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ได้ และโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย
ส่วนข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ และมาตรา ๒๖๘ นั้น ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารที่ตนเองปลอมนี้ด้วย กรณีเช่นนี้มาตรา ๒๖๘ วรรค ๒ บัญญัติให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ แต่กระทงเดียว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ และ มาตรา ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ให้ยกฟ้อง และคำขอที่ให้จำเลยใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายให้ยก ปรากฏว่าจำเลยเป็นหญิงและได้ชดใช้เงินที่ฉ้อโกงไปทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share