คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกว่าจำเลยที่1นำที่ดินแปลงน.ส.3ก.ทรัพย์มรดกของนายย. และตกได้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ1ใน6ส่วนไปขายโดยมิชอบแม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้เพิกถอนที่ดินแปลงดังกล่าวเอาที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสองคืนมาก็ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกเมื่อไม่อาจเพิกถอนการขายที่ดินแปลงดังกล่าวเงินที่ได้จากการขายที่ดินนั้นต้องถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจแบ่งให้โจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายยมหลวงอี่ ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เจ้ามรดกมีสิทธิครอบครองร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ในที่ดิน 2 แปลง แปลงแรกเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คิดเป็นส่วนของเจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน75 ตารางวา แปลงที่สองเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญเป็นเป็นส่วนของเจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน นายยม มีทายาท 6 คนต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รู้ว่าที่ดินนั้นเป็นทรัพย์มรดกของนายยม ซึ่งจะตกทอดได้แก่ทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งสองรวมอยู่ด้วยทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดก ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และให้จำเลยที่ 1 ในฐานผู้จัดการมรดกของนายยมแบ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายยม ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา และที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแก่โจทก์คนละ 1 งาน 66 ตารางวา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 บอกขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 2 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยจำเลยที่ 1แจ้งว่าที่ดินดังกล่าวส่วนที่เป็นของนายยมนั้น นายยม ได้ยกให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ก่อนที่ นายยม ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 จึงตกลงซื้อและทายาททุกคนของ นายยม ทราบเรื่องการขายที่ดินโดยตลอดจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ เมื่อขายที่ดินได้แล้ว จำเลยที่ 1ได้นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปชำระหนี้ให้สหกรณ์ซึ่งกองมรดกเป็นหนี้อยู่ เงินส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 แบ่งให้แก่ทายาทของนายยมคนละ 6,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองจะขอส่วนแบ่งมรดกคนละ100,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2เฉพาะส่วนของนายยม ซึ่งตกเป็นมรดกของโจทก์ทั้งสองจำนวน 2 ไร่3 งาน 58 ตารางวา ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา และที่ดินแปลงไม่มีหนังสือสำคัญซึ่งใช้ปลูกบ้านพักอาศัยให้แก่โจทก์ ทั้งสองคนละ 1 งาน 66 ตารางวา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ในฐานผู้จัดการมรดกของนายยม ได้ขายที่ดินแปลง น.ส.3 ก.ในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายยม ให้จำเลยที่ 2 โดยชอบ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 น่าจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1แบ่งเงินจากการขายที่ดินแปลงดังกล่าวในส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ผู้อื่นแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก โดยกล่าวว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินแปลง น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายยม และตกได้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 6 ส่วนไปขายโดยมิชอบ แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้เพิกถอนการขายที่ดินแปลงดังกล่าวเอาที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสองคืนมาก็ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกนั่นเองเมื่อไม่อาจเพิกถอนการขายที่ดินแปลงดังกล่าว เงินที่ได้จากการขายที่ดินนั้นต้องถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองอยู่นั่นเอง ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจแบ่งให้โจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินแปลงไม่มีหนังสือสำคัญให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 งาน 66 ตารางวา และแบ่งเงินให้โจทก์คนละ 3,730.42 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share