แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักเกณฑ์ในการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 32 และ 34 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ประการแรก ต้องเป็นผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งรับใบสมัครและลงบันทึกการรับสมัครพร้อมกับได้ออกใบรับให้แก่ผู้สมัครนั้นแล้ว ประการที่สอง ผ่านการตรวจสอบและสอบสวนของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแล้ว ประการที่สาม ไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ดังนั้น ที่ผู้ร้องได้ยื่นใบสมัครครั้งแรก แต่ผู้คัดค้านเห็นว่าเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน จึงให้ผู้ร้องไปนำเอกสารมาให้ครบ เมื่อผู้ร้องกลับมาอีกครั้งเมื่อเวลา 17 นาฬิกา ปรากฏว่าพ้นกำหนดระยะเวลายื่นใบสมัคร ผู้คัดค้านจึงไม่รับใบสมัคร ไม่ลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐาน และไม่มีการออกใบรับให้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ ผู้ร้องยังไม่ผ่านขั้นตอนการรับสมัครตามมาตรา 32 อย่างครบถ้วน จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีคำสั่งตามมาตรา 34 ได้
ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 34 บัญญัติให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นรับค่าธรรมเนียมศาลไว้จึงไม่ถูกต้อง
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตรับสมัครผู้ร้องและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องนำหลักฐานเอกสารมายื่นต่อผู้คัดค้านเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลายื่นใบสมัคร ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่รับผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ศาลชั้นต้นสืบพยานแทนศาลฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ผู้ร้องได้มาสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าเอกสารหลักฐานของผู้ร้องไม่ครบถ้วน ต่อมาผู้ร้องได้นำเอกสารหลักฐานมายื่นต่อผู้คัดค้านอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่รับสมัครผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งรับสมัครผู้ร้องได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้สมัครมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้กรณีเดียวตามมาตรา ๓๔ แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๓๒ ให้ผู้สมัครผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา… ดังนั้น ตามมาตรา ๓๒ เห็นได้ว่าผู้สมัครมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๓๔ ได้ มีหลักเกณฑ์ว่า ประการแรกต้องเป็นผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งรับใบสมัครและลงบันทึกการรับสมัครพร้อมกับได้ออกใบรับให้แก่ผู้สมัครนั้นแล้ว ประการที่สอง ผ่านการตรวจสอบและสอบสวนของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแล้ว ประการที่สาม ไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ดังนั้น ที่ผู้ร้องได้ยื่นใบสมัครครั้งแรก แต่ผู้คัดค้านเห็นว่าเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนจึงให้ผู้ร้องไปนำเอกสารหลักฐานมาให้ครบ เมื่อผู้ร้องกลับมาอีกครั้งปรากฏว่าพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่รับใบสมัคร ไม่ลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐาน และไม่มีการออกใบรับให้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ ผู้ร้องยังไม่ผ่านขั้นตอนการรับสมัครตามมาตรา ๓๒ อย่างครบถ้วน จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีคำสั่งตามมาตรา ๓๔ ได้
ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๔ บัญญัติให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นรับค่าธรรมเนียมศาลไว้จึงไม่ถูกต้อง
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องและผู้คัดค้าน.