คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเปลี่ยนเงินต่างประเทศเป็นเงินไทยเพื่อการชำระหนี้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ทำการขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ เห็นสมควรให้นำหนี้ที่แต่ละฝ่ายต้องชำระเงินแก่กันมาหักกลบลบกัน โดยนำค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องชดใช้แก่จำเลยมาคิดคำนวณเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ วันสิ้นทำการในวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวสูงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษา ก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 จำเลยจึงมีสิทธิที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศส่วนที่เหลือจากการหักกลบลบกันแล้ว โดยถือตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันเวลาที่จำเลยใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 7,975,800 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 87,681,695.50 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยไม่เคลือบคลุม ตามทางปฏิบัติคู่สัญญามิได้ถือปฏิบัติตามสัญญาว่าจำเลยจะต้องชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ภายใน 10 วัน ถือว่าสัญญาซื้อขายสินค้าพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยมิได้กำหนดเวลาชำระค่าสินค้าไว้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 เมื่อโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลบังคับได้จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายสินค้า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ทำให้จำเลยขาดประโยชน์ที่ควรได้จากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ เห็นสมควรกำหนดให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในส่วนนี้จำนวน 5,000,000 บาท แม้โจทก์จะยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าพิพาท แต่ตามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายสินค้า มิได้ให้อำนาจแก่โจทก์ที่จะห้ามมิให้บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระค่าสินค้าพิพาทแก่จำเลยหรือชำระให้แก่โจทก์แทนหรือนำไปวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์ การกระทำของโจทก์ในกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้จำเลยเสียหายขาดเงินทุนหมุนเวียน เห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จำเลยจำนวน 900,000 บาท จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าบุกเบิกตลาดเพื่อขายสินค้าของโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดไปกับสินค้าของโจทก์ แต่กรณีเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของโจทก์และจำเลย มิใช่เรื่องโจทก์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลย และเป็นเรื่องจำเลยให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเครื่อง พีอีซี 8850 ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเอง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องใช้ค่าลิขสิทธิ์นี้แก่จำเลย พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน (ค่าสินค้า) จำนวน 189,900 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในวันที่มีคำพิพากษา (วันที่ 4 ตุลาคม 2542) และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,900,000 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 8 ธันวาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เนื่องจากจำเลยได้ขอหักกลบลบหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยมาในคำให้การและฟ้องแย้งด้วย ดังนั้น ในชั้นบังคับคดีจึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินต้นทั้งสองจำนวนมาหักกลบลบกันก่อน เหลือเท่าไรจึงให้คำนวณดอกเบี้ยจากจำนวนคงเหลือนั้นนับแต่วันฟ้องนับต้นไปแล้วบังคับคดีชำระหนี้ส่วนต่างนี้แก่โจทก์หรือจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ต่อไป (ที่ถูกต้องระบุว่าคำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยกมาด้วย) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ในการนำหนี้ที่ต่างฝ่ายต่างต้องชำระเงินแก่กันตามคำพิพากษามาหักกลบลบกัน สมควรให้ถือตามอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินไทยสกุลบาทกับเงินต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐในวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นหลักในการคิดคำนวณหรือไม่ เห็นว่า ในการเปลี่ยนเงินต่างประเทศเป็นเงินไทยเพื่อการชำระหนี้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้หมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่จำเลยได้ใช้เงินจริง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินนี้ตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ทำการขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ เห็นสมควรให้นำหนี้ที่แต่ละฝ่ายต่างต้องชำระเงินแก่กันมาหักกลบลบกัน โดยนำค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องชดใช้แก่จำเลยมาคิดคำนวณเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ วันสิ้นทำการในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ซึ่งให้ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ใช้เงินค่าเสียหายให้แก่จำเลยหากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวสูงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการนี้ ณ วันสิ้นทำการในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเนื่องจากจำเลยมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง ที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ซึ่งแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศส่วนที่เหลือจากการหักกลบลบกันแล้วก็ได้ จึงเห็นสมควรให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการนี้ โดยถือตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการนี้ ณ วันเวลาที่จำเลยใช้เงิน แต่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องไม่เกิน 42 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าสินค้าจำนวน 189,900 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 สิงหาคม 2541) จนถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้แก่โจทก์ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่โจทก์มีหนังสือห้ามมิให้บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระค่าสินค้าแก่จำเลย เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 8 ธันวาคม 2541) จนถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้แก่จำเลย โดยให้นำเงินไทยสกุลบาทจำนวนดังกล่าวมาคิดคำนวณเป็นเงินต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยถืออัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ วันสิ้นทำการในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกเป็นเงินบาทได้จำนวนที่สูงกว่าวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 แล้วนำมาหักกลบลบกับจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ดังกล่าวข้างต้นโดยหักกลบลบกับดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงนำมาหักกลบลบกับต้นเงินค่าสินค้า คงเหลือหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้จำเลยรับผิดต่อไปพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เฉพาะส่วนที่เป็นต้นเงินคงเหลือนับแต่วันถัดจากวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะชำระหนี้คงเหลือดังกล่าวเป็นเงินไทยแก่โจทก์โดยให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการนี้ ณ วันสิ้นทำการในวันเวลาที่จำเลยใช้เงินไทยแก่โจทก์ แต่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องไม่เกิน 42 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง และให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายกรณีที่จำเลยอ้างว่าได้ใช้จ่ายไปในการวางแผนบุกเบิกด้านการตลาดเพื่อขายสินค้าของโจทก์ ค่าเสียหายกรณีที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลย และค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการที่จำเลยอ้างว่าถูกโจทก์บอกเลิกสัญญาแต่งตั้งผู้จัดหน่ายสินค้าของโจทก์โดยมิชอบ กับให้ยกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายทั้งสามรายการดังกล่าว และมีคำสั่งใหม่เป็นว่า ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายทั้งสามรายการดังกล่าว และให้จำเลยฟ้องใหม่เป็นคดีต่างหาก ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลรวมเป็นเงิน 112,215 บาท แก่จำเลย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share