คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ฟังจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาในครั้งที่ 3 เป็นเวลายาวนานเกินกว่า 2 เดือน ทั้งคดีมีข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อนหากโจทก์ตั้งใจจริงย่อมสามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตได้แต่โจทก์ปล่อยปละละเลยจนกระทั่งใกล้ครบกำหนดระยะเวลาฎีกาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายออกไป โจทก์จึงเพิ่งดำเนินการขอถ่ายเอกสาร การยื่นฎีกาไม่ทันตามกำหนดเช่นนี้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าได้รับเอกสารจากศาลชั้นต้นล่าช้าเพราะเครื่องถ่ายเอกสารใช้การไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น กรณีนับเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง หาใช่พฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลาฎีกาให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์ขณะนั้น (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำนาจศาลอุทธรณ์ภาค 4) พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามให้โจทก์ทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้ามมิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2541 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 1 ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดฎีกา (วันที่ 16 ธันวาคม 2541) ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 14 มกราคม 2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีก 10 วัน นับแต่วันครบกำหนดฎีกาที่ขอขยายครั้งแรกศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 25 มกราคม 2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นครั้งที่ 3 โดยยืนยันว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ จะไม่ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีกศาลชั้นต้นอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ครั้นถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกคำร้อง

โจทก์ทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่ากรณีมีเหตุที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ออกไปอีกครั้งหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 บัญญัติว่าการขยายเวลาให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 วันที่ 14 ธันวาคม 2541 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไป 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอีก 10 วัน อ้างว่ายังหาเงินค่าธรรมเนียมศาลไม่ครบโดยจะไม่ขอขยายระยะเวลาอีกศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม 2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก 5 วัน อ้างว่าโจทก์ทั้งสามขอถ่ายเอกสารและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในวันที่ 22 มกราคม 2542 แต่เจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสารไม่ได้ถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ อ้างว่าเครื่องถ่ายเอกสารขัดข้องยังใช้การไม่ได้โดยโจทก์ทั้งสามยืนยันว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดโจทก์ทั้งสามจะไม่ขอขยายระยะเวลาฎีกาอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542ครั้นถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอีกอ้างว่าได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจากศาลชั้นต้นล่าช้า เพราะเครื่องถ่ายเอกสารใช้การไม่ได้ต้องขออนุญาตจ่าศาลไปถ่ายคำเบิกความพยานโจทก์จำเลยนอกศาล ดังนี้ จะเห็นได้ว่านับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ทั้งสามฟังจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายในครั้งที่ 3 เป็นเวลายาวนานเกินกว่า 2 เดือน ทั้ง ๆ ที่คดีนี้มีข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อน หากโจทก์ทั้งสามและทนายความโจทก์ทั้งสามตั้งใจจริงย่อมสามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต การที่โจทก์ทั้งสามและทนายความโจทก์ทั้งสามปล่อยปละละเลยจนกระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2542 อันเป็นวันใกล้ครบกำหนดระยะเวลาฎีกาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายออกไปในครั้งที่ 3 จึงได้ดำเนินการขอถ่ายเอกสารและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วก็ดำเนินการยื่นฎีกาไม่ทันตามกำหนดเช่นนี้ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามที่ว่าได้รับเอกสารจากศาลชั้นต้นล่าช้าเพราะเครื่องถ่ายเอกสารใช้การไม่ได้นั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น กรณีนับเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์ทั้งสามเอง หาใช่พฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลาฎีกาให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกานั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share