แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจำเลยที่ 1 ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนแล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรีมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากราชการไม่ถูกต้องก็อุทธรณ์ได้และโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อนายรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 มาตรา 104 แล้ว คำสั่งของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 105 ของกฎหมายดังกล่าวเว้นแต่คำสั่งของนายกรัฐมนตรีจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการฟังข้อเท็จจริงหรือการใช้ดุลพินิจนั้นไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนเป็นเพียงพอหรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต แต่โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมิได้บรรยายว่าคณะกรรมการสอบสวนของจำเลยที่ 1 หรือนายกรัฐมนตรีฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลพินิจโดยไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ออกจากราชการ
ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้รับฟ้องฐานละเมิด ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เชื่อข้อเท็จจริงจากสำนวนสอบสวนของคณะกรรมการ แล้วนำเข้าประชุม อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยไม่ให้โอกาสแก่ อ.ก.พ. แต่ละคนพิจารณาสอบสวนให้ละเอียดรอบคอบ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์หลงเชื่อ อ.ก.พ. กระทรวงฯ และไม่สอบสวนหรือเรียกพยานหลักฐานจากโจทก์มาประกอบการพิจารณา และจำเลยที่ 3 ในฐานะประธาน อ.ก.พ. กระทรวงฯ ในขณะนั้นใช้อำนาจมิชอบฉวยโอกาสจากความเกรงกลัวของผู้ใต้บังคับบัญชารวบรัดให้ที่ประชุม อ.ก.พ. มีมติให้ไล่โจทก์ออกจากราชการมีเจตนาไม่สุจริต ไม่ให้ความเป็นธรรมเพียงพอ โดยพิจารณาอุทธรณ์ในทางที่จะยืนยันคำสั่งซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อในขณะออกคำสั่ง ทำให้จำเลยที่ 2 เป็นชอบกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือมิชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิหรือจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ดังที่โจทก์ฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการขณะนั้นมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการ โดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่พิจารณา นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งยกอุทธรณ์ อันเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสามอันเป็นการมิชอบและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้โจทก์มีสิทธิกลับเข้าสู่ฐานะเดิม ให้จำเลยร่วมกันจ่ายเงินเดือนจนถึงวันครบเกษียณและเงินบำนาญ ตั้งแต่วันครบเกษรียณถึงวันฟ้อง และต่อไปจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ใช้อยู่ ในขณะที่จ่ายนั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลที่จะเข้าไปชี้ขาดในเรื่องนี้ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการไม่ได้ จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญแก่โจทก์ได้ ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาขอให้รับฟ้องโจทก์ที่ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เพิกถอนคำสั่งที่ ๗๖๔/๒๕๑๗ ที่ไล่โจทก์ออกจากราชการนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง และจำเลยที่ ๑ ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็นำเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยพิจารณา อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติให้ไล่โจทก์ออกจากราชการจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นจึงมีคำสั่งที่ ๗๖๔/๒๕๑๗ ไล่โจทก์ออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หากโจทก์เห็นวาคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ไล่โจทก์ออกจากราชการไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่โจทก์จะยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๐๔ และโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๐๔ และโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๐๕ เว้นแต่คำสั่งของนายกรัฐมนตรีจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการฟังข้อเท็จจริงหรือการใช้ดุลพินิจนั้นไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือมิได้เป็นไปโดยสุจริตตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๖-๖๔๗/๒๕๑๐ ระหว่างนายจั๊ว แซ่นิ้ม กับพวก โจทก์ เทศบาลนครกรุงเทพกับพวก จำเลย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้บรรยายฟ้องว่าคณะกรรมการสอบสวน อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๑ หรือนายกรัฐมนตรีฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลพินิจโดยไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาขอให้รับฟ้องในข้อหาฐานละเมิดนั้น โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ ๑ เชื่อข้อเท็จจริงจากสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการแล้วนำเข้าที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย โดยไม่ให้โอกาสแก่ อ.ก.พ. แต่ละคน พิจารณาสำนวนการสอบสวนให้ละเอียดรอบคอบ จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์หลงเชื่อตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย และไม่สอบสวนหรือเรียกพยานหลักฐานจากโจทก์มาประกอบการพิจารณาตามกฏหมาย และจำเลยที่ ๓ ในฐานะประธาน อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ใช้อำนาจมิชอบ ฉวยโอกาสจากความเกรงกลัวของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชารวบรัดให้ที่ประชุม อ.ก.พ. มีมติให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ ทั้งขณะพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ยังเป็นประธาน อ.ก.พ. ซึ่ง ก.พ. ตั้งให้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของข้าราชการทั่วไป รวมทั้งอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย จำเลยที่ ๓ มีเจตนาไม่สุจริต ไม่ให้ความเที่ยงธรรมเพียงพอ โดยพิจารณาอุทธรณ์ในทางที่จะยืนยันคำสั่งซึ่งจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ลงชื่อในขณะออกคำสั่ง ทำให้จำเลยที่ ๒ เห็นชอบกับคำสั่งของจำเลยที่ ๑ นับได้ว่าจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย หรือมิชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิ หรือจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ ดังที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน