แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 144 ถนนราชเสียงแสน ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านตั้งแต่ปี 2509 ตลอดมา ซึ่งตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 29ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์อยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นแต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานข้างต้นได้กลับปรากฎว่าโจทก์ยอมรับว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ส่งไปที่บ้านภรรยาเดิมของโจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อโจทก์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์จึงทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีถือว่าบ้านดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ดังนั้น ถึงแม้จะรับฟังว่า โจทก์มีที่อยู่และที่ทำงานที่บ้านเลขที่ 542/94ถึง 97 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร อีกแห่งหนึ่งก็ดี ต้องถือว่าโจทก์มีถิ่นที่อยู่2 แห่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ดังนั้นบ้านเลขที่ 144 ดังกล่าวจึงเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของโจทก์ตามกฎหมาย การที่จะเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการดังที่โจทก์อ้าง โจทก์จะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าเลือกเอาบ้านเลขที่ 542/94 ถึง97 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์แสดงเจตนาชัดแจ้งเช่นที่กล่าว จึงถือไม่ได้ว่าบ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์ อีกทั้งปรากฎตามคำรับรองตอนท้ายคำอุทธรณ์รายนี้ของโจทก์มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าอุทธรณ์ฉบับนี้ โจทก์อยู่บ้านเลขที่ 144 ถนนราชเชียงแสนตำบลหายยา อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เรียงและโจทก์ผู้อุทธรณ์ก็ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้พิมพ์ไว้อีกด้วย ดังนี้ เมื่อมีการส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปถึงโจทก์ตามภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 144 จึงเป็นการส่งไปยังผู้อุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่ง ประมวลรัษฎากรแล้ว การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีนี้เป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ กรณีต้องบังคับตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และ มาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ โดยข้อ 572 กำหนดว่า “สิ่งของส่งทางไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้” ข้อ 573 กำหนดว่า “ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับกสท. ถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือ 573.1บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับ เช่น พ่อ แม่พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน ผู้อาศัย คนรับใช้เป็นต้น” เท่านั้น หาได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับไว้ไม่เมื่อจำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และผู้แทนของผู้รับซึ่งอยู่ในบ้านโจทก์รับไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535 กรณีเช่นนี้ตามไปรษณีย์นิเทศฉบับดังกล่าว ข้อ 575 ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย จึงถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2535 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536 จึงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์อันขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประจำปี 2527 และ 2528 และการประเมินภาษีการค้าสำหรับเดือนธันวาคม 2527 และเดือนมกราคมถึงเมษายน 2528 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับให้งดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2527 ถึง 2528
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีได้ตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินได้แจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มประจำปี 2527 และ 2528 เป็นเงิน 5,877,786.96บาท และ 2,678,407.50 บาท กับภาษีการค้าประจำเดือนธันวาคม 2527 และเดือนมกราคมถึงเมษายน 2528 เป็นเงิน660,898 บาท และ 363,648 บาท ต่อโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มประจำปี 2527 และ 2528คงเรียกเก็บเป็นเงินรวม 5,807,001.75 บาท และ 2,595,607.50บาท ส่วนภาษีการค้าประจำเดือนธันวาคม 2527 และเดือนมกราคมถึงเมษายน 2528 ให้ยกอุทธรณ์โดยส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปถึงโจทก์ตามทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 144 ถนนราชเชียงแสน ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่และมีผู้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2535 ตามสำเนาทะเบียนบ้านและใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 8 และ 10 ครั้นวันที่ 25มกราคม 2536 โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ โดยโจทก์นำสืบอ้างว่าภูมิลำเนาของโจทก์อยู่ที่บ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และโจทก์เพิ่งเดินทางไปบ้านดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่จึงทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535ซึ่งศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยื่นฟ้องพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์เป็นประการแรกว่า การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เป็นไปโดยมิชอบ เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของโจทก์นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 34 บัญญัติว่า”คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้ทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์” และ มาตรา 8 บัญญัติว่า “หมายเรียกหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของบุคคลนั้น “กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ “และมาตรา 38 บัญญัติว่า”ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไปหรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่งให้ถือเอาแห่ง”ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไปหรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่งให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 10โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านในบ้านเลขที่ 144 ถนนราชเชียงแสนตำบลหายยา อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2509ตลอดมาตามหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบทะเบียนบ้านฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2536 เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 9 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น” แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานข้างต้นได้ กลับปรากฎว่าโจทก์ยอมรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ส่งไปยังที่บ้านภรรยาเดิมของโจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อโจทก์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่โจทก์จึงทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีถือว่าบ้านดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ดังนั้น ถึงแม้จะรับฟังว่า โจทก์มีที่อยู่และที่ทำงานที่บ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97 ถนนรัชดาภิเษกแขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อีกแห่งหนึ่งก็ดีต้องถือว่าโจทก์มีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง ฉะนั้น บ้านเลขที่ 144ดังกล่าวแล้วจึงเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของโจทก์ตามกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์ว่า บ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จะเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการดังที่โจทก์อ้าง โจทก์จะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าการเลือกเอาบ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์แสดงเจตนาชัดแจ้งเช่นที่กล่าวจึงถือไม่ได้ว่าบ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์ อีกทั้งปรากฎตามคำรับรองตอนท้ายคำอุทธรณ์รายนี้ของโจทก์มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า อุทธรณ์ฉบับนี้ ข้าพเจ้านายสมพงษ์ บุญศรี อยู่บ้านเลขที่ 144 ถนนราชเชียงแสนตำบลหายยา อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เรียงและโจทก์ผู้อุทธรณ์ก็ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้พิมพ์ไว้อีกด้วย ตามภาพถ่ายคำอุทธรณ์เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข14 ดังนี้ เมื่อมีการส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปถึงโจทก์ตามภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 144 จึงเป็นการส่งไปยังผู้อุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้างต้นไม่ได้ความว่าส่งให้แก่ผู้ใด ใครเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับหนังสือดังกล่าวและผู้รับบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ เห็นว่าจำเลยมีนายสม กันทาพนักงานไปรษณีย์ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าพยานเป็นผู้นำจ่าย(ส่งมอบ) ให้แก่ผู้ใหญ่ในบ้านดังกล่าวลงลายมือชื่อรับไว้แทนตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 8 ประกอบกับโจทก์รับว่าโจทก์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535 แสดงว่าผู้รับต้องอยู่ในบ้านดังกล่าวดังที่นายสม เบิกความจริงข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคนในบ้านของโจทก์เป็นผู้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้ส่วนที่โจทก์อ้างว่าผู้รับบรรลุนิติภาวะหรือไม่นั้น เห็นว่า การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีนี้เป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ กรณีต้องบังคับตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสาร พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ โดยข้อ 572 กำหนดว่า “สิ่งของส่งทางไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้”ข้อ 573 กำหนดว่า “ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ กสท.ถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือ 573.1 บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุงป้า น้า อา ลูก หลาน ผู้อาศัย คนรับใช้ เป็นต้น” เท่านั้นหาได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับไว้ไม่ เมื่อจำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และผู้แทนของผู้รับซึ่งอยู่ในบ้านโจทก์รับไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 8กรณีเช่นนี้ตามไปรษณีย์นิเทศฉบับดังกล่าว ข้อ 575 ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2535 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536จึงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์อันขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน