คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ในที่ดิน เป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719และ 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้ เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่อยู่ติดกับทะล ดังนั้นแม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมาเป็นทุนของบริษัท ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามป.พ.พ. มาตรา 1556 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หรือมาตรา 1574 (ใหม่)กรณีไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนเป็นประจำทุกเดือนจากบริษัทที่ตั้งขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อไปโดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้ว ถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) พิพาท และ ให้จำเลยที่ 7 จดทะเบียนเป็นชื่อของผู้จัดการมรดกของขุนวิเศษนุกูลกิจแทน หากไม่สามารถจดทะเบียนเพิกถอนได้ก็ให้บังคับจำเลยทั้งหมดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,786,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อนำเข้ากองมรดกแบ่งปันให้ทายาทต่อไปและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึง 6 พร้อมทั้งบริวาร เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้ง 21 แปลง
จำเลยที่ 1 ถึง 10 และจำเลยที่ 15 ถึง 22 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ถึง 14 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์และนางสมศรี อุดมทรัพย์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลื้มหรือโปจ๋วน อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 12 ถึงแก่กรรม นางอรนุช อุดมทรัพย์ ทายาทโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนและโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวเย็นฤดี อุดมทรัพย์ ทายาทจำเลยที่ 12 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ถึง 9 และจำเลยที่ 15 ถึง 22 …
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน…
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาแล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินการทำเหมืองแร่ในที่ดินดังกล่าว เป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้ เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่อยู่ติดกับทะเลดังที่นายอภิชาติเบิกความไว้ ดังนั้นแม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หรือมาตรา 1574 (ใหม่) เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนเป็นประจำทุกเดือนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมา จนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดไป โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้ว ถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 15 จำนวน 20,000 บาท จำเลยที่ 7 จำนวน 2,000 บาท จำเลยที่ 8 จำนวน 8,000 บาท จำเลยที่ 9 จำนวน 10,000 บาท จำเลยที่ 16 ถึงที่ 22 จำนวน 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 10 ถึงที่ 14 ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้.

Share