คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34-บางบ่อ พ.ศ. 2525 กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 10 ผู้ที่ต้องจ่ายค่าทดแทนคือเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย)จำกัด นายยก ตั้งตรงศักดิ์ และนายทรง พรรณอุไร ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2378 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวถูกทางหลวงแผ่นดินสายเลี่ยงเมืองตัดผ่าน เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาจ่ายเงินค่าทดแทนให้บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย)จำกัด จำนวน 8,100 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร(ประเทสไทย) จำกัด มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจำนวน 23,004 บาทคงขาดไปเป็นเงิน 14,904 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้อีกจำนวน 14,904 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 2,151.89 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,055.89 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาและไม่ได้เป็นคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยินยอมและพอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนโดยมิได้สงวนสิทธิโต้แย้งไว้ จำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ไปโดยสุจริต โจทก์รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกจำนวน14,904 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่11 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องมิได้เกิน 2,151.89 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2378 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการโดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายสุเทพ ตั้งตรงศักดิ์ นายประเสริฐตั้งตรงศักดิ์ และนายทรง พรรณอุไร เฉพาะนายสุเทพและนายประเสริฐถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยกตั้งตรงศักดิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2378 ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34-บางบ่อ พ.ศ. 2525 จำนวน 1 ไร่2 งาน 48 ตารางวา พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินการเกี่ยวกับการเวนคืนและกำหนดค่าทดแทนได้มีการบันทึกข้อตกลงยินยอมระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยฝ่ายเจ้าของทรัพย์สินคือ โจทก์นายสุเทพ นายประเสริฐ และนายทรง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาคือนายประดิษฐ์ เอี่ยมสำอางค์ผู้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมทางหลวง ตกลงกำหนดค่าทดแทนเป็นเงิน32,400 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ให้โจทก์ไปรับเงิน 8,100 บาท โจทก์รับมาแล้วและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจำเลยว่าค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไม่ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2378 ที่ถูกเวนคืนจำนวน 7,100 ส่วน ในเนื้อที่ทั้งหมด10,000 ส่วน ควรได้รับค่าทดแทนจำนวน 23,004 บาท จึงยังคงขาดอยู่14,904 บาท จำเลยส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนพิจารณา แล้วมีความเห็นว่า กรมทางหลวงจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์และเจ้าของรวมอีก 3 ราย คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน และไม่มีข้อทักท้วงจากโจทก์ จึงไม่มีมูลที่จะเรียกร้องได้ เมื่อโจทก์รับเงินค่าทดแทนโดยไม่มีข้อทักท้วงแล้วในภายหลังมายื่นอุทธรณ์ว่ากำหนดค่าทดแทนคลาดเคลื่อนนั้น มิได้เป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าการเวนคืนรายนี้ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไว้ ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ได้กำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจตกลงซื้อขาย กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์และจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่ต้องจ่ายค่าทดแทนคือเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เมื่ออธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าทดแทน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share