คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายไม่ได้ห้ามหญิงมีสามีไม่ให้ทำนิติกรรม, เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้นิติกรรมเป็นโมฆียะก็เฉพาะที่จะผูกพันสินบริคณห์ ซึ่งสามีมีส่วนได้เสียร่วมอยู่ด้วย ป.พ.พ.มาตรา 137 วรรค 2 จึงบัญญัติให้สามีมีสิทธิบอกล้างได้ และเป็นสิทธิเฉพาะสามีที่จะบอกล้างคนเดียวเท่านั้น เพราะหญิงมีสามีไม่ใช่ผู้ไร้ความสามารถดังที่บัญญัติไว้ใน ม.137 วรรคต้น ตัวหญิงเองจึงไม่มีสิทธิบอกล้างได้.

ย่อยาว

เรื่อง เรียกทรัพย์คืน
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าบันทึกเปรียบเทียบคดีมรดกของกรมการอำเภอกิ่งคำชะอีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียก ทรัพย์มรดกตามฟ้องราคา ๖๐๐๐ บาท คืน
จำเลยต่อสู้ว่า บันทึกเปรียบเทียบดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมาย และทรัพย์ที่พิพาทไม่ใช่มรดก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า บันทึกคำเปรียบเทียบขอกิ่งอำเภอคำชะอีไม่มีผลผูกมัดโจทก์ ให้จำเลยแบ่งนาพิพาทที่โจทก์ฟ้อง ทั้งสองแปลงกับที่บ้าน, เรือน, ยุ้งข้าว กึ่งหนึ่งให้โจทก์ กับให้คืนกระบือ ๗ ตัว ข้าว ๑๐๐ หมื่นให้โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่า ฤชาธรรมเนียมเท่าที่โจทก์ชนะ ๓๒๕๐ บาทแทน และให้จำเลยเสียค่า ๑๕๐ บาทแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าสัญญาแบ่งมรดก ซึ่งทำกัน ณ กิ่งอำเภอคำชะอีเป็นโมฆียะกรรม สามีโจทก์ไปบอกล้างยัง กิ่งคำชะอีใช้ไม่ได้ ตัวโจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างเอง การที่สามีโจทก์อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกล้าง พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จำเลยได้ทราบถึงการบอกล้างแล้ว อย่างไรก็ดีตัวโจทก์ เองมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ควรพิพากษายืนในผลที่ให้แบ่งมรดกไปตามกฎหมาย
นายนามผู้รับมรดกความโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทำนิติกรรมโดยถูกกลฉ้อฉลหรือข่มขู่ดังโจทก์ฟ้อง ทรัพย์มรดกที่ ปกครองแทนกันเช่นคดีนี้เป็นสินบริคณห์ และนิติกรรมรายนี้เป็นโมฆียะกรรมดังศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมา เมื่อข้อเท็จจริงฟัง ว่าขณะที่ภรรยาทำนิติกรรมนั้น สามีรู้เห็นอยู่ด้วย และไม่คัดค้านเช่นคดีนี้ นิติกรรมรายนี้ก็สมบูรณ์ตามกฎหมาย นายนาม (สามีโจทก์) ไม่มีสิทธิบอกล้างในภายหลัง ทั้งการบอกล้างก็ไม่ได้บอกแก่ตัวจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญา ส่วนความเห็น แย้งที่ว่า ตัวหญิงมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมได้นั้น เห็นว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามหญิงมีสามีไม่ให้ทำนิติกรรม เหตุที่กฎหมาย บัญญัติให้นิติกรรมเป็นโมฆียะก็เฉพาะที่จะผูกพันสินบริคณห์ซึ่งสามีมีส่วนได้เสียร่วมอยู่ด้วย ฉะนั้น ตามป.พ.พ.มาตรา ๑๓๗ วรรค ๒ จึงบัญญัติให้สามีมีสิทธิบอกล้างได้ และเป็นสิทธิเฉพาะสามีที่จะบอกล้างคนเดียวเท่านั้น เพราะหญิงมีสามีไม่ ใช่ผู้ไร้ความสามารถดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗ วรรคต้น ตัวหญิงเองจึงไม่มีสิทธิบอกล้างได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์ ค่าธรรมเนียม ค่าทนายให้เป็นพับไปทั้ง ๓ ศาล.

Share