คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยานศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานและให้คู่ความรอฟังคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 182(4)
โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยซึ่งเป็นภรรยาระหว่างสมรสซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติถึงการบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภรรยาทำไว้ต่อกันในช่วงเวลาดังกล่าวไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ต้องการบอกล้างสัญญาการให้ที่ดินต่อจำเลย จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 1469มาใช้บังคับ หาใช่นำบทบัญญัติมาตรา 535 อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภรรยากัน ระหว่างสมรสโจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ให้แก่จำเลยจำนวน 7 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด235 ตารางวา เป็นราคาประเมินทั้งสิ้น 7,990,000 บาท คือที่ดินโฉนดเลขที่ 16034, 16026, 16027, 16028, 16029 และให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่16023 และ 16024 โจทก์ยังมอบหมายให้จำเลยเก็บรายได้อันเป็นผลจากดอกผลสินส่วนตัวของโจทก์คือค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคาร ค่าเช่าที่ดิน เป็นรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า60,000 บาท เพื่อให้นำส่งมอบให้แก่โจทก์และนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่จำเลยประพฤติตัวไม่เหมาะสม ไม่นำเงินดังกล่าวมอบแก่โจทก์ แต่กลับไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อประโยชน์สุขของจำเลยฝ่ายเดียว นอกจากนี้ยังบังคับให้โจทก์อนุญาตให้จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 16029 และ 16034 จดทะเบียนจำนองแก่บุคคลภายนอกจนโจทก์ต้องดำเนินการขายที่ดินสินส่วนตัวของโจทก์นำเงินไปชำระหนี้แทนจำเลยเป็นจำนวนหลายล้านบาท โจทก์ไม่ประสงค์จะยกที่ดินทั้ง 7 แปลง ดังกล่าวให้แก่จำเลย โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสที่โจทก์ยกที่ดินทั้ง 7 แปลงให้แก่จำเลย พร้อมกับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 16034, 16026, 16027,16028, 16029 และสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 16023 และ 16024 ตำบลบางลำภูล่าง (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ระหว่างโจทก์กับจำเลย และแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของโจทก์ดังเดิม ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ส่งมอบคืนขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และขอให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี ออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แทนฉบับเดิมให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าออกโฉนดที่ดินใหม่ ค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมภาษี ตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ระหว่างสมรสโจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ให้แก่จำเลยทั้ง 7 แปลงตามฟ้องจริงแต่ในการยกให้นั้นโจทก์ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้ให้แก่โจทก์ทุกแปลง โดยจำเลยเป็นผู้เก็บรายได้อันเป็นผลประโยชน์ในที่ดินเช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคาร และค่าเช่าที่ดิน เมื่อได้รับเงินมาโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำเงินไป ใช้จ่ายในครอบครัว ถ้ามีเงินเหลือจำเลยจะนำเข้าฝากในบัญชีของโจทก์รวมทั้งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ จำเลยไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น และไม่เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เมื่อโจทก์บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจำเลยก็เอาใจใส่ตลอดมาการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16029 และ 16034 ก็เพื่อนำเงินมาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยการก่อหนี้ของโจทก์เป็นหนี้ส่วนตัวที่โจทก์มีต่อธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) สำนักงานใหญ่ และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคลองสาน จำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์ต้องเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาให้ที่ดินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง

วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 16034, 16026, 16027, 16028, 16029 และสัญญาให้ที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 16023 และ 16024 ตำบลบางลำภูล่าง(บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ระหว่างโจทก์กับจำเลย ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย และเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวจากชื่อจำเลยเป็นของโจทก์ดังเดิม หากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 ในระหว่างสมรส โจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามฟ้องรวม 7 แปลงแก่จำเลย ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยจึงได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างสัญญาการให้ที่ดินรวม 7 แปลงดังกล่าวแก่จำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้ว คดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยและให้รอฟังคำพิพากษานั้น เป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 182(4) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่าสัญญายกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ให้แก่จำเลย 7 แปลง ตามฟ้องนั้น ในการเพิกถอนการให้จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535 หรือมาตรา 1469 มาใช้บังคับ เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดิน 7 แปลงตามฟ้องแก่จำเลยระหว่างสมรส นิติกรรมการให้จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติถึงการบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภรรยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภรรยากันไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามาใช้บังคับ หาใช่จะต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 535 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับตามที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share