คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8176/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ใช้ถ้อยคำว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความด้วยแต่ก็ให้การต่อสู้โดยอ้างถึงบทบัญญัติของมาตรา 26แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับวันที่รัฐมนตรีฯ ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์และต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีเสียภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันตามกฎหมายดังกล่าว อันเป็นคำให้การที่ยกข้อต่อสู้ในเรื่องโจทก์ฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ใช้ถ้อยคำว่าคดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้นเป็นเพียงการใช้ถ้อยคำที่ผิดพลาดไปเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้คำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์ฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีแล้ว มิได้วินิจฉัยนอกประเด็นหรือนอกข้อต่อสู้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนยังไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนไว้เป็น2 กรณี กรณีแรกรัฐมนตรีได้วินิจฉัยเสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่ได้รับคำอุทธรณ์ตามมาตรา 25 วรรคสอง ซึ่งผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีและในกรณีที่สองที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง กำหนดเวลาฟ้องคดีภายในหนึ่งปีจะเริ่มนับแต่วันที่พ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ไม่ได้นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เพราะจะเป็นเหตุให้กำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลทอดยาวนานออกไปตามแต่เวลาที่รัฐมนตรีจะใช้วินิจฉัยอุทธรณ์โดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ซึ่งไม่สอดคล้องกับถ้อยคำของมาตรา 25 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ทั้งขัดกับเหตุผลและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯที่ประสงค์ให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นไปโดยรวดเร็ว
กำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดเวลาใช้สิทธิฟ้องคดี มิใช่อายุความอันจะเป็นเหตุให้กำหนดเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 460,933,225 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 400,811,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงไม่รับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2ส่วนจำเลยที่ 1 รับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยที่ 1 ให้การว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับและนำสืบตรงกันว่าที่ดินตามฟ้องรวม 13 แปลงของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงหมายเลข 36 โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ จึงได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีฯ ได้รับคำอุทธรณ์เกี่ยวกับที่ดิน 10 แปลงของโจทก์ที่อยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 4มีนาคม 2537 และได้รับคำอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดิน 3 แปลง ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 รัฐมนตรีฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์แต่วินิจฉัยเสร็จและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อเกินกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนที่ดินที่อยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการแจ้งให้ทราบตามหนังสือลงวันที่ 4 ธันวาคม2538 ส่วนที่ดินที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครแจ้งให้ทราบตามหนังสือลงวันที่ 22กันยายน 2538 โจทก์ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีฯ จึงได้ฟ้องคดีในวันที่ 20 มิถุนายน 2539 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าศาลมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ ไม่ได้ต่อสู้ว่าโจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ศาลย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ฟ้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและนอกข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า แม้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1ใช้ถ้อยคำว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความด้วย แต่ก็ให้การต่อสู้โดยอ้างถึงบทบัญญัติของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับวันที่รัฐมนตรีฯได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ และต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีเสียภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันตามกฎหมายดังกล่าว อันเป็นคำให้การที่ยกข้อต่อสู้ในเรื่องโจทก์ฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ใช้ถ้อยคำว่า คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้นเป็นเพียงการใช้ถ้อยคำที่ผิดพลาดไปเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้คำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์ฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีแล้ว มิได้นอกประเด็นหรือนอกข้อต่อสู้ดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จากบทบัญญัติของมาตรา 25 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกให้ฟ้องภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จภายในกำหนดหกสิบวัน และกรณีที่สองให้ฟ้องภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี สำหรับคดีของโจทก์เมื่อรัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ได้มีการแจ้งเป็นหนังสือมายังโจทก์ว่าได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว และจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป ดังนั้น โจทก์จึงต้องรอคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีเสียก่อน ซึ่งต่อมารัฐมนตรีก็ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิจะฟ้องร้องได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ไม่เกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีแจ้งคำวินิจฉัยให้โจทก์ทราบชอบด้วยมาตรา 25 และมาตรา 26 แล้ว อีกทั้งเมื่อรัฐมนตรีได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มจากจำเลยจึงเป็นการที่จำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ มีผลให้อายุความหรือสิทธิที่โจทก์จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากจำเลยสะดุดหยุดลง และเมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มจนถึงวันฟ้องยังไม่เกินหนึ่งปี โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามบทบัญญัติมาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัญหานี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า”ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันที่ได้รับคำอุทธรณ์” และมาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี” และเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นไปได้โดยรวดเร็ว เห็นว่า มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่ต่อเนื่องมาจากมาตรา 25 วรรคสอง ทั้งมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องกำหนดระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียวมิได้กล่าวถึงเรื่องการวินิจฉัยของรัฐมนตรี ส่วนเรื่องการวินิจฉัยของรัฐมนตรีมีการกล่าวไว้ในมาตรา 25 วรรคสอง ดังนั้น ถ้อยคำของมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ที่ว่าคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 จึงหมายถึงคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีที่วินิจฉัยภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง คือ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีที่วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกรัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ กรณีที่สองรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ในตอนท้ายของวรรคนี้ได้กำหนดวันเริ่มต้นนับกำหนดเวลาใช้สิทธิฟ้องคดีในแต่ละกรณีต่างกันแล้วแต่กรณี กรณีแรกรัฐมนตรีได้แจ้งคำวินิจฉัยให้ทราบภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีส่วนในกรณีที่สองรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง กำหนดเวลาฟ้องคดีภายในหนึ่งปีจะเริ่มนับแต่วันที่พ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์หากตีความตามที่โจทก์ฎีกาว่ากำหนดเวลาฟ้องคดีหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีแม้รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสองด้วย วันเริ่มต้นนับกำหนดเวลาฟ้องคดีก็จะเหลือเพียงกรณีเดียว และจะเป็นเหตุให้กำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลทอดยาวนานออกไปตามแต่เวลาที่รัฐมนตรีจะใช้วินิจฉัยอุทธรณ์โดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ซึ่งไม่สอดคล้องกับถ้อยคำของมาตรา 25 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ทั้งขัดกับเหตุผลและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ที่ประสงค์ให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นไปโดยรวดเร็วกรณีของโจทก์เป็นกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่ได้รับคำอุทธรณ์ กำหนดเวลาฟ้องคดีภายในหนึ่งปีจึงเริ่มนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ คดีได้ความว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับที่ดิน 10 แปลง ในเขตจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 4มีนาคม 2537 ครบกำหนดหกสิบวันในวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปี คือภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2538ส่วนคำอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับที่ดินอีก 3 แปลง ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม2537 ครบกำหนดหกสิบวันในวันที่ 16 กรกฎาคม 2537 โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปี คือภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 ปรากฏว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินทั้ง 13 แปลง รวมกันเมื่อวันที่ 20มิถุนายน 2539 พ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อศาลได้ทั้งกำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งนี้ เป็นกำหนดเวลาใช้สิทธิฟ้องคดีมิใช่อายุความอันจะเป็นเหตุให้กำหนดเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ได้ดังที่โจทก์ฎีกา จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”

พิพากษายืน

Share