แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะไปกับจำเลยกับพวก อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เมื่อถึงที่เปลี่ยวจำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย แสดงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายเพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายในขณะที่การชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายยังไม่ขาดตอนจากกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้อาวุธปืน และฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ได้กระทำนั้นเอง จึงมิใช่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 โดยไม่ระบุวรรคไม่ถูกต้อง รวมทั้งเมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 289 (6) (7) แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 288 อีก นอกจากนี้โจทก์ขอให้ริบหัวกระสุนปืน 2 หัว และกระสุนปืนหัวตะกั่ว 1 นัด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ริบหัวกระสุนปืนทั้งหมดรวม 3 หัว ก็ไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2545 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นแบบออโตเมติก ขนาด .22 ชนิดประกอบขึ้นเอง 1 กระบอก และอาวุธปืนสั้นแบบลูกโม่ขนาด .38 หรือ .357 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งอาวุธปืนทั้งสองกระบอกไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ และร่วมกันมีกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 แม็กนั่ม 4 นัด กับกระสุนปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .38 จำนวน 3 นัด ซึ่งเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำเลยกับพวกร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในบริเวณห้างสรรพสินค้าโลตัสพระนครศรีอยุธยา ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตามถนนสายโรจนะจนถึงบริเวณข้างวัดชูจิตธรรมมาราม ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และจำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนดังกล่าวขู่บังคับนางหน่อย วิจิตรผล ผู้ตาย ให้ขึ้นรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บฉ 9206 พระนครศรีอยุธยา ของผู้ตายไปกับจำเลยและพวก โดยขู่บังคับไม่ให้ผู้ตายขัดขืน และไม่ให้หลบหนีอันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ผู้ตายจำยอมไปกับจำเลยและพวก เมื่อถึงบริเวณที่เปลี่ยวจำเลยกับพวกร่วมกันลักเอาสร้อยคอทองคำหนัก 2 ถึง 3 บาท 1 เส้น ราคา 18,000 บาท สร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 ถึง 3 บาท 1 เส้น ราคา 18,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 1 สลึง 1 เส้น ราคา 1,500 บาท เครื่องเล่นวีซีดี 1 เครื่อง ราคา 500 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ราคา 6,000 บาท กระเป๋าสตางค์ 1 ใบ และเงินจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัด รวมราคาทรัพย์ 48,500 บาท ของผู้ตาย ไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย รวม 6 นัด โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน กระสุนปืนทั้ง 6 นัดถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทันที เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นซึ่งทรัพย์ และยึดถือเอาทรัพย์ไว้ และจำเลยกับพวกฆ่าผู้ตายเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกกระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ได้กระทำไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานยึดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บฉ 9206 พระนครศรีอยุธยา กระเป๋าสตางค์ 1 ใบ หัวกระสุนปืน 2 หัว เครื่องเล่นวีซีดี 1 เครื่อง อาวุธปืนสั้น แบบออโตเมติก ขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 แม็กนั่ม 4 นัด ซองกระสุนปืน 1 อัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง กระสุนปืนหัวตะกั่ว 1 หัว เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 310, 339, 339 ทวิ, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืน 2 หัว กระสุนปืนหัวตะกั่ว 1 นัด อาวุธปืนสั้นแบบออโตเมติก ขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 แม็กนั่ม 4 นัด ซองกระสุนปืน 1 อัน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 40,500 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (4) (6) (7), 310, 339 วรรคท้าย, 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อความสะดวกในการที่จะทำความผิดอย่างอื่นและเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนและฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้อาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นฯ โดยลงโทษประหารชีวิต ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น จำคุก 5 ปี มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยซึ่งเป็นโทษขั้นสูงสุดแล้วจึงไม่รวมโทษจำคุกกระทงอื่นอีก ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต (ที่ถูกจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานฆ่าผู้อื่นฯ จำคุกตลอดชีวิต ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 2 ปี 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)) ริบหัวกระสุนปืนรวม 3 หัว อาวุธปืนสั้นแบบออโตเมติก ขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 แม็กนั่ม 4 นัด ซองกระสุนปืน 1 อัน ของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 40,500 บาท แก่เจ้าของ (ที่ถูกคำขอนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะไปกับจำเลยกับพวกอันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเมื่อถึงที่เปลี่ยวจำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย เพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ได้กระทำ แสดงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายเพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายในขณะที่การชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายยังไม่ขาดตอนจากกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้อาวุธปืน และฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้กระทำความผิดเพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ได้กระทำนั้นเอง จึงหาใช่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายอีกกรรมหนึ่งต่างหากดังที่ศาลอุทธรณืภาค 1 ลงโทษมาไม่และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 โดยไม่ระบุวรรคนั้น เห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง รวมทั้งเมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7) แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตาม มาตรา 288 อีก นอกจากนี้คดีนี้โจทก์ขอให้ริบหัวกระสุนปืน 2 หัว และกระสุนปืนหัวตะกั่ว 1 นัด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ริบหัวกระสุนปืนทั้งหมดรวม 3 หัว จึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7), 310 วรรคหนึ่ง, 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังถึงแก่ความตาย ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยใช้อาวุธปืน และฐานะฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกกระทำความผิดอื่น และเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและบางบทมีอัตราโทษเท่ากันเห็นสมควรลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น เพื่อจะเอาและเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกกระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ริบหัวกระสุนปืน 2 หัว และกระสุนปืนหัวตะกั่ว 1 นัด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค