คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้อันใดอันหนึ่งตามมาตรา702 แต่ผู้จำนองอาจไม่ใช่ตัวลูกหนี้ก็ได้ ตาม มาตรา709จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ จำนองจึงบังคับแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1กู้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยด้วยเช็ค เจ้าหนี้ไม่เอาเช็คไปขึ้นเงินลูกหนี้ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามจำนวนในเช็ค
พยานเอกสารซึ่งผู้อ้างมิได้ส่งสำเนาแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา90 ศาลรับฟังฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ได้ตามมาตรา87(2) โจทก์ส่งสำเนาพร้อมกับฟ้องก็ใช้ได้ เอกสารที่ต้นฉบับอยู่กับคนภายนอกผู้อ้างไม่ต้องส่งสำเนา
ศาลตรวจพิจารณาลายมือชื่อที่มีข้อคัดค้านว่าเป็นลายมือชื่อปลอมโดยเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในเอกสารอื่นที่แท้จริงได้เอง แม้เป็นลายมือชื่อภาษาต่างประเทศ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา46

ย่อยาว

โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้กับโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 5,800,000 บาท กับดอกเบี้ยยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ควรวินิจฉัยก่อนโดยลำดับ คือ ประการแรก จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องคดีนี้ กล่าวคือโจทก์มิได้ส่งสำเนาหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามเอกสารหมาย จ.4ให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 โจทก์มิได้นำสืบว่า โจทก์ได้ประทับตราของบริษัทโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ต่อหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ตหรือไม่ และตามเอกสารหมาย จ.4ก็ไม่ปรากฏตราของบริษัทโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้มีรูปร่างลักษณะอย่างใดจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้ และศาลชั้นต้นจะรับฟังเอกสารหมาย จ.4 โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)อ้างเหตุว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่จำเป็นต้องสืบเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ได้ เพราะมาตรา 87(2) เป็นเรื่องที่ศาลเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตราในมาตรา 87 นั้นเอง หาใช่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตราในมาตรา 88 และ 90 ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.4 ให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน 3 วันตามมาตรา 90 ศาลจึงไม่มีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย จ.4 เป็นพยานหลักฐานในคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่…(1)…ฯลฯ (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้” ข้อความในมาตรา 87 มีอยู่ดังนี้ จะตีความดังจำเลยฎีกาหาถูกต้องไม่ เพราะในตอนต้นของมาตรา 87 บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานเว้นแต่จะต้องด้วยอนุมาตรา (1) หรือ (2) โดยเฉพาะในอนุมาตรา (2) ได้กล่าวถึงมาตรา 87 และ 90 มีข้อความดังกล่าวข้างต้น ข้อความในตอนท้ายของมาตรา 87(2) จึงต้องหมายความว่า ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี แม้คู่ความจะไม่ได้อ้างพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 ดังนั้นแม้โจทก์จะมิได้ส่งสำเนาหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหมาย จ.4 ให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารหมาย จ.4 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 87(2) จึงรับฟังเอกสารหมาย จ.4 เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ และเมื่อโจทก์มีหนังสือรับรองของหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหมาย จ.4 มาสืบ แสดงว่า โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2510 โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามแทนบริษัทโจทก์ที่ 1 ในบรรดากิจการทุกอย่างและเอกสารสัญญากรมธรรม์ หรือนิติกรรมใด ๆ ทุกชนิด แต่ต้องประทับตราบริษัท ปรากฏว่า โจทก์ที่ 2 ลงชื่อในใบแต่งทนายแทนโจทก์ที่ 1 โดยประทับตราบริษัทโจทก์ที่ 1 และหลักฐานแห่งหนี้รายนี้ คือสัญญากู้หมาย จ.5 และ จ.11 ก็ได้ประทับตราของบริษัทถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทโจทก์ที่ 1ทุกประการ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

จำเลยฎีกาในปัญหาเรื่องการรับฟังเอกสารอีกว่า เอกสารหมาย จ.1ถึง จ.13 ที่โจทก์นำสืบและส่งศาลนั้น โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้และเป็นเอกสารที่มีอยู่ที่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 และโจทก์มิได้ลงชื่อรับรองสำเนาเอกสารเหล่านั้นว่าเป็นสำเนาถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนเอกสารหมาย จ.23 ถึง จ.28 ที่โจทก์ส่งศาลเป็นสำเนาเช็ครวม 6 ฉบับ มิใช่ต้นฉบับเช็คตัวจริง เอกสารหมาย จ.28 ถึง จ.34 เป็นเอกสารซ้ำกับเอกสารที่กล่าวแล้ว เอกสารทั้งหมดนั้นจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า โจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.13 เว้นแต่เอกสารหมาย จ.4 ให้จำเลยพร้อมฟ้อง และได้ระบุอ้างพยานเอกสารเหล่านี้ไว้ ตามบัญชีระบุพยานของโจทก์ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2515 ก่อนวันเริ่มสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันและโจทก์ได้อ้างส่งต้นฉบับหมาย จ.1 ถึง จ.13 ต่อศาล ซึ่งถูกต้องตรงกับสำเนาที่โจทก์นำส่งให้จำเลยพร้อมฟ้องแล้ว ส่วนสำเนาเช็คหมาย จ.23ถึง จ.28 โจทก์ได้อ้างต้นฉบับตามเอกสารหมาย จ.28 ถึง จ.34 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของธนาคารแหลมทอง จำกัด และธนาคารชาเตอร์แบงค์จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว จึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(2) ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวทั้งหมดได้

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้ำ พิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาหมาย จ.5 ประกอบกับข้อตกลงขยายระยะเวลาชำระหนี้หมาย จ.10 และหนี้เงินกู้ตามสัญญาหมาย จ.11 ยังไม่ถึง 10 ปีคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ และคดีก่อนโจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่า คดีมีทางตกลงกันได้ ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขที่ 15/2515 ของศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่ต้องห้ามมิให้โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาโต้เถียงขึ้นมาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองกู้เงินและจำนองที่ดินไว้กับโจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วโจทก์นำสืบ โจทก์ที่ 2 กับนายอุดม บุญหลง เป็นพยานรู้เห็นในการทำสัญญากู้และสัญญาจำนองตามฟ้อง และโจทก์ได้มอบเช็คหมาย จ.29 ถึง 34 จ่ายเงินตามจำนวนที่จำเลยกู้ทั้งสองคราวให้ตัวแทนของจำเลยรับไปตามข้อเท็จจริงที่บรรยายไว้ในข้อนำสืบของโจทก์ข้างต้น โดยมีนายคริน บุนนาค สมุห์บัญชีใหญ่ธนาคารแหลมทอง จำกัด และนายสำรวย สุนทรเจริญ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารชาเตอร์ด จำกัด เป็นพยานว่า ธนาคารได้จ่ายเงินตามเช็คหมาย จ.29, 31, 33, 34 เข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาสีลมแล้ว ส่วนเช็คหมาย จ.30 ซึ่งสั่งจ่ายให้จำเลยที่ 1 และเช็คหมาย จ.32 ซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายให้ผู้ถือ ก็มีผู้รับเงินไปจากธนาคารโดยลงชื่อสลักหลังเช็คไว้ด้วย พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญแห่งคดีลงรอยกับเอกสารที่โจทก์อ้าง โดยมีลายมือชื่อที่เชื่อได้ว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ในสัญญากู้หมาย จ.5 และ จ.11 ทั้งนี้โดยอาศัยเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 รับเงินตามเช็คหมาย จ.30 และ จ.32 และลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คหมาย จ.14 ถึง จ.22 เป็นค่าดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ 1มีลักษณะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันทั้งสัญญาจำนองหมาย จ.6ถึง จ.8 และสัญญาขึ้นเงินจำนองหมาย จ.12 – 13 ก็เป็นเอกสารทางราชการที่เจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้น ซึ่งตามสัญญากู้หมาย จ.5 ได้กล่าวระบุถึงเลขที่ดินที่จำเลยจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้ด้วย แสดงว่าได้มีการจำนองที่ดินไว้กับโจทก์ที่ 2 จริง จึงสามารถระบุเลขที่โฉนดลงไว้ในสัญญากู้ได้ เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยทั้งสองก็มิได้ตอบปฏิเสธหนี้แต่อย่างใดพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้กับโจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงินตามฟ้องจริง พยานหลักฐานของจำเลยและเหตุผลที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์นั้น ยังไม่มีน้ำหนักให้ศาลชี้ขาดเป็นอย่างอื่น ดังศาลอุทธรณ์ได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วที่จำเลยฎีกาว่า ศาลจะฟังข้อเท็จจริงโดยอาศัยพยานเอกสารดังกล่าวแล้วเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า ศาลรับฟังเอกสารนั้น ๆ เป็นพยานเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2), 88 และ 90 ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ศาลรับฟังลายมือชื่อผู้กู้ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 ว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 โดยไม่นำผู้เชี่ยวชาญมาสืบพิสูจน์ไม่ได้นั้น ก็เห็นว่า ศาลมีอำนาจตรวจเปรียบเทียบลายมือชื่อในเอกสารและวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1333/2494 คดีระหว่าง นายลาน ทองศรี โจทก์ นายเคนสวยรูป จำเลย และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46มิใช่เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลตรวจเปรียบเทียบลายมือที่เป็นภาษาต่างประเทศแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงอีกว่าโจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้น ได้ความจากโจทก์ที่ 2 ว่าได้ให้ทนายโจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองถึงจำเลยทั้งสองโดยทางไปรษณีย์ตอบรับและมีผู้รับโดยชอบแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 ถึงจ.3 จำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธ จึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2 เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ และการที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยโดยจำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จะเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็นหรือไม่ โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า ผู้จำนองไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้ผู้รับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 709 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้ เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้” ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่า อาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา 702 ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง ก็จำนองได้ ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่า ตามบันทึกขึ้นเงินจำนองเอกสารหมาย จ.12, 13 ระบุไว้ว่า เป็นการจำนองเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 กับบริษัทโจทก์ที่ 1โดยนายประหยัด บุญสูง โจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อเนื่องกับบริษัทโจทก์ที่ 1ผู้เป็นเจ้าหนี้อีกทอดหนึ่ง แสดงว่า โจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 1 และย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเมื่อได้ชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสองด้วยนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเช่นนั้น คงกล่าวอ้างเพียงว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับจำนอง มิได้มีความรับผิดอย่างใดต่อโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เพียงใดนั้น ศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นประเด็นข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคำฟ้องมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาต่อไปว่า การที่โจทก์ไม่นำเช็คล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์เป็นค่าดอกเบี้ยตามเช็คหมาย จ.14 ถึง 18 รวม 5 ฉบับ ๆ ละ 37,500บาท และเช็คหมาย จ.19 ถึง จ.22 รวม 4 ฉบับ ๆ ละ 35,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 327,500 บาทไปขึ้นเงิน จะถือว่าจำเลยยังค้างชำระดอกเบี้ยตามเช็คทั้งหมดนั้นหรือไม่ เห็นว่า กรณีดังกล่าวต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าชำระหนี้ด้วยออกด้วยโอน ฤาด้วยสลักหลังตั๋วเงิน ฤาประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงิน ฤาประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว” ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่นำเช็คค่าดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารเองจะโดยเหตุผลดังที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยขอร้องให้รอไว้ก่อน เพราะไม่มีเงินในบัญชีก็ตาม เช็คเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หนี้ก็ยังไม่ระงับไป คงเป็นหนี้ค้างชำระอยู่ตามมูลหนี้เดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าดอกเบี้ยจำนวนตามเช็คข้างต้นให้โจทก์ด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ 1 อีก 327,500บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียม(รวมค่าทนาย) ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share