คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอคืนทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดศุลกากรนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ต้องแปลว่า เมื่อเจ้าของไม่มาติดตามและร้องขอคืนภายในกำหนดก็หมดสิทธิเพราะกฎหมายให้ถือว่าพ้นกำหนดแล้วเท่ากับเป็นของไม่มีเจ้าของ ให้ตกเป็นของแผ่นดินไป
เรือยนต์ที่ให้เช่าไปแล้วผู้เช่าเอาไปใช้หลบหนีภาษีจนศาลสั่งริบ แม้เจ้าของผู้ให้เช่าจะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด ก็ต้องมายื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ยึด
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2504

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยฐานนำปลาสดซึ่งยังมิได้เสียภาษีศุลกากรจากกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุกคนละ ๖ เดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากร และให้ริบปลากับเรือยนต์ของกลาง
ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนเรือยนต์ของกลาง
อัยการโจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเชื่อว่าเรือยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องจำเลยเช่าไป ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด แต่ปรากฎว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนเรือพ้นระยะ ๖๐ วัน นับแต่ถูกยึดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พงศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จึงหมดสิทธิได้คืน ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของผู้ร้องนั้น พระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา ๒๔ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติสุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ มีความว่า “สิ่งใดๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัติ พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจยึดในเวลาใดๆ และ ณ ที่ใดๆ ก็ได้
สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกร้องเอาภายในกำหนด ๖๐ วัน สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด ๓๐ วัน สำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันที่ยึด ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน”
ตามบทบัญญัตินี้มีข้อความชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่า ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในสิ่งของที่ยึดจะต้องร้องขอคืนภายในกำหนดเวลาข้างต้น มิฉะนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของและตกเป็นของแผ่นดิน จึงไม่มีทางแปลไปได้ดังควมเห็นของผู้ร้องว่า บทบัญญัติในมาตรานี้หมายเฉพาะกรณีไม่มีตัวผู้ต้องหา แท้จริงจะต้องแปลว่าเมื่อเจ้าของไม่มาติดตามและร้องขอคืนภายในกำหนดแล้วก็หมดสิทธิเพราะกฎหมายให้ถือว่าพ้นกำหนดแล้ว เท่ากับเป็นของไม่มีเจ้าของ ให้ตกเป็นของแผ่นดินไป
นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๒๐ ก็บัญญัติว่า เมื่อใดพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายอื่น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัติศุลกากรขึ้นบังคับ เพราะฉะนั้น ผู้ร้องจะให้นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ มาใช้แทนพระราชบัญญัติศุลกากรหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share