คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคาร น. ในฐานะผู้รับอาวัลได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่แล้ว ธนาคาร น. ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ตามป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 985 และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาจากธนาคาร น. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวภายในอายุความข้างต้นเช่นกัน
ธนาคาร น. ผู้รับอาวัลใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแทนลูกหนี้ไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 อันเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 5 ใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว บทบัญญัติมาตรา 5 ข้างต้นจึงไม่มีผลบังคับแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 7,861,002.74 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายที่ 11 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้พ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงขาดอายุความ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามมาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักพระคลังข้างที่สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 3,800,000 บาท ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี โดยมีธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ลูกหนี้มิได้ชำระเงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่เป็นเหตุให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับอาวัลได้ชำระเงินตามตั๋วพร้อมดอกเบี้ยให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่ จำนวน 4,218,000 บาท หลังจากนั้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 และได้มีการบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังลูกหนี้แล้ว ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติข้างต้น เมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับอาวัลได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่แล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 985 และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวภายในอายุความข้างต้นเช่นกันข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับอาวัลใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแทนลูกหนี้ไปจำนวน 4,218,000 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 อันเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ คดีมีปัญหาต้องวินิจต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด เห็นว่า ตามคำขอให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.5 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ลูกหนี้ขอให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักพระคลังข้างที่นั้น มีข้อความระบุว่าหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเหตุให้ธนาคารต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแทนไป ลูกหนี้ยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่ธนาคารคิดจากผู้กู้ยืมซึ่งขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารจ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้นำมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี โดยมิได้มีประกาศของธนาคารดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของธนาคารนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นจำนวนเท่าใด จึงเห็นสมควรกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น สำหรับปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ถึงเมื่อใดนั้น เนื่องจากมีพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติไว้มีใจความว่า นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้ก่อขึ้นมิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ซึ่งลูกหนี้เป็นบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 5 ดังกล่าว แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับบรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เท่านั้น ส่วนกรณีของเจ้าหนี้ได้ความตามคำแก้อุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 5 ข้างต้นจึงไม่มีผลบังคับแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ปัญหานี้จะมิได้ยกขึ้นพิจารณาในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 247 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 4,218,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 4,218,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share