แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับ ย. เข้าหุ้นกันซื้อที่ดินแล้วนำมาจัดสรรขาย ในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวได้เว้นที่ดินพิพาทเป็นถนนซอยสำหรับให้ที่ดินที่อยู่ด้านหลังเป็นทางเข้าออก เพื่อให้เห็นว่าที่ดินที่อยู่ด้านหน้า 9 แปลง กับที่ดินที่อยู่ด้านหลัง 3 แปลง ไม่ติดต่อกันโดยมีที่ดินพิพาทของบุคคลอื่นคั่นอยู่ และให้ ย. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตจัดสรรที่ดินขายต่อทางราชการในที่ดินเกินกว่า 10 แปลงขึ้นไป การตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ย. จึงหาใช่เจตนาอันแท้จริงของบุคคลทั้งสอง แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเว้นที่ดินพิพาทไว้เพื่อเป็นทางเข้าสู่ถนนสาธารณะสำหรับที่ดินพิพาทที่อยู่ด้านหลังมาตั้งแต่แรก แม้ พ. ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้รถยนต์ผ่านที่ดินพิพาทเข้าไป ก็ถือได้ว่าใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกแล้ว และนับแต่ พ. ซื้อที่ดินดังกล่าวถึงวันที่ขายให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้ พ. จะไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิภาระจำยอมก็ตาม
ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าทนายความโจทก์เกินไปกว่าอัตราค่าทนายความขั้นสูงที่ตาราง 6 กำหนด และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมาโดยไม่แก้ไขเป็นการไม่ถูกต้อง แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4651 เนื้อที่ 78 ตารางวา ระหว่างจำเลยทั้งสองตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ 29 มีนาคม 2534 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4651 เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4653 ถึง 4664 โดยให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 4651 เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4664 ของโจทก์ ที่สำนักงานที่ดิน หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4651 ของจำเลยที่ 2 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4664 ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4664 ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้นางยุพยงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้นเพื่อให้เห็นว่าที่ดินที่อยู่ด้านหน้า 9 แปลง กับที่ดินที่อยู่ด้านหลัง 3 แปลง ไม่ติดต่อกันโดยมีที่ดินพิพาทของบุคคลอื่นคั่นอยู่ระหว่างที่ดินที่อยู่ด้านหน้ากับที่ดินที่อยู่ด้านหลังเพื่อจำเลยที่ 1 กับนางยุพยงจะได้ไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรที่ดินขายต่อทางราชการเท่านั้น การตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4651 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางยุพยงจึงหาใช่เจตนาอันแท้จริงของบุคคลทั้งสองไม่ จำเลยที่ 1 เจตนาเว้นที่ดินพิพาทไว้เพื่อเป็นทางเข้าสู่ถนนสุขุมวิทสำหรับที่ดินพิพาทที่อยู่ด้านหลังมาตั้งแต่แรก แม้นางพัชรินทร์จะเพียงแต่ใช้รถยนต์ผ่านที่ดินพิพาทเข้าไป ก็ถือได้ว่าใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกแล้ว และนับแต่นางพัชรินทร์ซื้อที่ดินดังกล่าวถึงวันที่ขายให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4664 ของโจทก์โดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แม้นางพัชรินทร์จะไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิภาระจำยอมก็ตาม
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นไว้เพียง 3,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความโจทก์ถึง 15,000 บาท จึงเกินไปกว่าอัตราค่าทนายความขั้นสูงที่ตาราง 6 กำหนด และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมาโดยไม่แก้ไขเป็นการไม่ถูกต้อง แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนโจทก์ สำหรับค่าทนายความชั้นฎีกาโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้.