แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดการกระทำของจำเลยให้ปรากฏพอที่จะให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นแต่ละกรรมแยกตามจำนวนผู้เสียหายนอกเหนือไปจากคำฟ้องหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานฯ พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานฯพ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคแรก, 82 จำคุก 5 ปี และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก จำคุก 5 ปี รวมให้จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องโดยจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายรวม 9 คน จึงแยกการกระทำออกได้เป็น 9 กรรมที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเพียงกรรมเดียว เป็นการมิชอบหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนมีใจความสรุปได้ว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนว่าจำเลยเป็นตัวแทนจากบริษัทมีชื่อจัดหางานส่งคนไทยไปทำงานที่ประเทศไต้หวันให้ประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศไต้หวันสมัครได้กับตนซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถที่จะจัดส่งคนไปทำงานในต่างประเทศตามที่จำเลยหลอกลวงได้แต่อย่างใด ทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงซึ่งมีนางแต๋ว เสาวรส กับพวกรวม 9 คน ต่างหลงเชื่อตามที่จำเลยหลอกลวง ไปสมัครเพื่อทำงานในต่างประเทศกับจำเลยและเสียเงินค่าบริการต่าง ๆ ให้จำเลยรวมเป็นเงิน 193,000 บาท อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดการกระทำของจำเลยให้ปรากฏพอที่จะให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรม ดังที่โจทก์ฎีกา ดังนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นแต่ละกรรมแยกตามจำนวนผู้เสียหายนอกเหนือไปจากคำฟ้องหาได้ไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากผู้เสียหายแต่ละคนต่างวันเวลากัน จึงแยกการกระทำออกได้เป็น9 กรรมนั้น เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องจะนำมาฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาในความผิดฐานนี้เพียงกรรมเดียวจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน