แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยโอนทรัพย์ให้ผู้ร้องโดยเสน่หาเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น แม้จะฟังว่าผู้ร้องไม่รู้ถึงข้อความจริงที่ทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบก็ดี โจทก์ก็ขอให้เพิกถอนการโอนนั้นเสียได้
ในชั้นบังคับคดีร้องขัดทรัพย์นั้น หากโจทก์อ้างว่าผู้ร้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยไม่สุจริต เป็นการหลีกเลี่ยงการชำระหนี้โจทก์แล้ว ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ได้โดยไม่ต้องให้โจทก์ไปดำเนินคดีฟ้องร้อง ขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อนแต่ประการใด.
ย่อยาว
โจทก์ชนะคดีจำเลย จึงบังคับคดียึดเรือน ๑ หลังกับที่ดินปลูกเรือน ๑ แปลงของจำเลยราคาประมาณ ๗,๐๐๐ บาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของผู้ร้อง ได้มาดดยจำเลยทำหนังสือยกให้ จดทะเบียนต่อที่ว่าการอำเภอ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมาจนบัดนี้ ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์คัดค้านว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลย นำไปประกันเงินกู้โจทก์ไว้ ผู้ร้องเป็นบุตรจำเลย หากจะมีการโอนยกให้กันจริง ก็เป็นการโอนโดยไม่สุจริต ฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระหนี้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ ๑๒,๕๐๐ บาท เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๙ เอาเรือนและที่ดินพิพาทใส่ลงในสัญญากู้เป็นหลักประกัน ต่อมาเดือนตุลาคม ๒๕๐๐ จำเลยโอนทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องตามหนังสือสัญญายกที่ดินให้ฉบับที่ ๓/๒๕๐๐ โดยฝ่ายโจทก์ไม่ทราบเรื่องเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยโอนทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องโดยสุจริตมีค่าตอบแทนนั้นพยานผู้ร้องเบิกความแตกต่างขัดกันไม่สมเหตุผล ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นหนี้นายจัดนายวันพยานผู้ร้อง และผู้ร้องไปขอเงินตามผู้ร้องมาใช้หนี้นายจัดนายวันแทนจำเลย จำเลยจึงโอนยกเรือนและที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา คดีน่าเชื่อว่าจำเลยโอนทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เพราะจำเลยมีหนี้สินมาก ทั้งการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นการยกให้โดยเสน่หา แม้จะฟังว่าผู้ร้องไม่รู้เรื่องหนี้สินของจำเลยก็ตาม การที่จำเลยฝ่ายเดียวทราบดีว่าการโอนทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องย่อมทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะจำเลยไม่มีทรัพย์อื่นใดจะชำระหนี้อีก ก็เป็นการเพียงพอที่โจทก์จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ได้แล้ว
ที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์ควรฟ้องจำเลยกับผู้ร้องขอให้ทำลายนิติกรรมการยกให้เสียก่อนนั้น เห็นว่า เรื่องนี้เป็นการพิจารณาชั้นบังคับคดี เจตนารมณ์ของกฎหมายยอมให้ว่ากล่าวกันได้ ศาลมีอำนาจชี้ขาดตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ได้ โดยมิพักต้องให้โจทก์ไปดำเนินคดีฟ้องร้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อนแต่ประการใด
พิพากษายืน.