คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกับคนอื่นรวม 6 ชื่อด้วยกันเมื่อไม่ปรากฏการจดแจ้งในทะเบียนว่ามีส่วนได้น้อยกว่า 1 ใน 6 ก็ย่อมต้องสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ 1 ส่วนในโฉนดเลขที่ 209 เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา โดยรับมรดกนายห้องบิดาโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้ง 5 ผู้มีชื่อในโฉนดด้วยกันกับโจทก์แต่จำเลยขัดขวางจึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ตามส่วนที่กล่าวแล้ว

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์มีส่วนได้เพียง 2 ไร่ 2 งานเท่านั้น

ทางพิจารณาได้ความว่า เดิมโจทก์ถูกพวกทายาทฟ้องห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทอันเป็นมรดกนี้ ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนอยู่ด้วยในมรดกนี้ จึงให้ยกฟ้องในคดีนั้นเสีย แต่ในคำพิพากษามิได้กล่าวชี้ขาดว่า โจทก์มีส่วนได้เพียง 2 ไร่ 2 งาน หรือเท่าใดต่อมาจึงได้มีการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินรายนี้ โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกับจำเลยเป็น 6 ชื่อด้วยกัน ไม่ปรากฏการจดแจ้งในทะเบียนว่า โจทก์มีส่วนได้น้อยกว่า 1 ใน 6

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์กับจำเลยอื่นมีส่วนได้คนละเท่า ๆ กันคือ 1 ใน 6 ในที่พิพาท

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีเดิมศาลแพ่งก็มิได้ชี้ขาดว่า ส่วนของใครเท่าใด เมื่อมีการจดทะเบียนรับมรดกกันภายหลังมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกับจำเลยเป็น 6 ชื่อด้วยกัน ไม่ปรากฏการจดแจ้งในทะเบียนว่า โจทก์มีส่วนได้น้อยกว่า 1 ใน 6 ก็ย่อมต้องสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากัน จึงพิพากษายืน

Share