คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8108/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างออกหนังสือตักเตือนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเรื่องบริหารงานล้มเหลว ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่ายโดยไม่เป็นความจริง และไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณนั้น พอเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยเป็นการใช้อำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องความล้มเหลวในการบริหารงาน ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่าย โดยมีข้อความระบุว่า “…หากมีความผิดลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทางบริษัทจะพิจารณาโทษในสถานหนักยิ่งขึ้นไป หนังสือเตือนนี้มีอายุ 1 ปี นับแต่วันที่ออก” จึงมีลักษณะเป็นการออกหนังสือตำหนิโทษหรือคาดโทษโจทก์ว่า หากโจทก์กระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันออกหนังสือ จำเลยจะพิจารณาโทษสถานหนักขึ้นบังคับใช้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางวินัยประเภทภาคทัณฑ์เป็นหนังสือ (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากการกระทำผิดครั้งแรก) ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 6.2.2
ส่วนปัญหาว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยอันเป็นการลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือนั้นชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนหนังสือตักเตือนหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำความผิดตามหนังสือตักเตือนหรือไม่ และจำเลยมีขั้นตอนการพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนหนังสือตักเตือน ปิดประกาศขออภัยโจทก์โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของโจทก์จำเลยและลงประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นเวลา 30 วัน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องบริหารงานล้มเหลว ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่าย โจทก์รับทราบแต่ไม่ยอมรับข้อกล่าวหา แล้ววินิจฉัยว่า เป็นอำนาจของจำเลยในฐานะนายจ้างในการบังคับบัญชาที่สามารถออกหนังสือตักเตือนโจทก์ในฐานะลูกจ้างได้ ทั้งสาระสำคัญในหนังสือตักเตือนเป็นเรื่องงานและการทำงาน ไม่เป็นเรื่องที่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณ โทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ได้แก่ ตักเตือนด้วยวาจา ภาคทัณฑ์เป็นหนังสือ (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากการกระทำผิดครั้งแรก) งดโบนัส งดขึ้นเงินเดือนประจำปีในปีถัดไป หรือพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ปลดออกจากตำแหน่งและการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่รวมถึงการตักเตือนเป็นหนังสือ จึงถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เป็นการลงโทษทางวินัย หากภายหน้าโจทก์จะต้องเสื่อมเสียสิทธิใดๆ เป็นต้นว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะกระทำการดังถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว โจทก์ก็อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าการตักเตือนเป็นหนังสือไม่ถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิอันจะเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนหนังสือตักเตือนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เป็นการลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 6.2.2 เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยลงโทษโจทก์โดยไม่มีการสอบสวน ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องบริหารงานล้มเหลว ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่ายพร้อมแนบหนังสือตักเตือนมาท้ายคำฟ้องโดยไม่เป็นความจริงและไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณนั้น พอเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยเป็นการใช้อำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 6.2 กำหนดว่า “โทษทางวินัยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ…6.2.2 ภาคทัณฑ์เป็นหนังสือ (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากการกระทำผิดครั้งแรก)…” ดังนี้การที่จำเลยออกหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องความล้มเหลวในการบริหารงาน ขาดความเข้าใจในการผลิตงานและขาดความเป็นทีมในฝ่ายโดยมีข้อความระบุว่า “…ถือเป็นการทำผิดระเบียบบริษัทฯ ข้อที่ 13.3.7 ละเลยไม่ปฏิบัติงานตามขั้นตอน หรือไม่จัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามระเบียบหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทฯ หรือผู้บังคับบัญชาและข้อ 13.3.20 ประพฤติตนในรูปแบบอื่นๆ ที่ควรแก่การพิจารณาโทษ ซึ่งจากฐานความผิดดังกล่าวฝ่ายบุคคลได้รับแจ้งจากผู้จัดการของท่านว่าได้สังเกตขั้นตอนการปฏิบัติงานของท่านจากวันที่ทำผิดจนถึงวันที่ลงในหนังสือฉบับนี้ การจัดการงานของท่านไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นจนถึงวันที่ออกหนังสือนี้แต่อย่างใด ฝ่ายบุคคลจึงจำเป็นต้องออกหนังสือฉบับนี้ เพื่อตักเตือนให้ท่านได้ทราบถึงปัญหาของตัวเองและเร่งแก้ไขปรับปรุงตัวในการจัดการงานและทำงานให้เป็นทีมอย่างเป็นระบบต่อไป ทั้งนี้ หากมีความผิดลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทางบริษัทจะพิจารณาโทษในสถานหนักยิ่งขึ้นไป หนังสือเตือนนี้มีอายุ 1 ปี นับแต่วันที่ออก” เช่นนี้ จึงมีลักษณะเป็นการออกหนังสือตำหนิโทษหรือคาดโทษโจทก์ว่า หากโจทก์กระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันออกหนังสือ จำเลยจะพิจารณาโทษสถานหนักขึ้นบังคับใช้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางวินัยประเภทภาคทัณฑ์เป็นหนังสือ (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากการกระทำผิดครั้งแรก) ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 6.2.2 ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาว่าการออกหนังสือตักเตือนของจำเลยอันเป็นการลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือนั้นชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนหนังสือตักเตือนหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำความผิดตามหนังสือตักเตือนหรือไม่ และจำเลยมีขั้นตอนการพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า โจทก์กระทำความผิดตามหนังสือตักเตือนหรือไม่ และจำเลยมีขั้นตอนการพิจารณาลงโทษภาคทัณฑ์เป็นหนังสือกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่ แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

Share