คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ อ้างว่าคู่ความและศาลตกลงกันให้ยกเลิกวันนัดวันที่ 29 กรกฎาคม2540 แล้ว ข้อความตกเติมในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลที่ให้นัดวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 ได้กระทำขึ้นภายหลังจากที่คู่ความและศาลได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา ต่อมาโจทก์และจำเลยมาศาลในวันนัดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 จึงทราบเรื่องศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี คำร้องของโจทก์ดังกล่าวต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งโจทก์ต้องยกขึ้นกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง โจทก์ทราบว่าถูกศาลสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดระเบียบเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 แต่โจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2540 ช้ากว่ากำหนดตามกฎหมาย โจทก์จึงหมดสิทธิยื่น และศาลไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยให้โจทก์
ข้อที่โจทก์กล่าวอ้างเหตุล่าช้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคท้าย ในฎีกาว่า ต้องเสียเวลาหลายวันในการขอดูสำนวน จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2540 โจทก์จึงได้ดูสำนวน นั้น โจทก์ไม่ได้อ้างเหตุล่าช้าดังกล่าวนี้ไว้ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ จึงไม่เป็นประเด็นในชั้นฎีกา ทั้งโจทก์สามารถที่จะเรียงคำร้องได้เมื่อโจทก์ทราบว่าถูกจำหน่ายคดีผิดระเบียบโดยโจทก์ไม่จำต้องขอดูสำนวนหรือหากโจทก์มีความจำเป็นจะต้องดูสำนวน โจทก์ ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ได้ แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,581,875 บาท ชำระค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ที่ควรได้ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีในต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความด้วยเหตุคู่ความไม่มาศาลตามนัดในวันที่ 29 กรกฎาคม 2540

โจทก์ยื่นคำร้องว่า วันนัดพิจารณาวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 คู่ความตกลงให้ยกเลิกไปแล้ว ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเรื่องคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมิได้มีคำสั่งโดยผิดหลงตามที่โจทก์อ้างจึงไม่มีเหตุต้องเพิกถอนคำสั่ง ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในนัดพิจารณาวันที่ 21 พฤษภาคม2540 ศาลชั้นต้นสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2540 เวลา 13.30 นาฬิกาและวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงนัดพิจารณาวันที่ 7 กรกฎาคม2540 ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 29 กรกฎาคม 2540 เวลา 9 นาฬิกาตามที่นัดไว้แล้ว วันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 เวลา 13.30 นาฬิกา และวันที่ 9 ธันวาคม2540 เวลา 9 นาฬิกา โดยรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 บันทึกด้วยพิมพ์ดีด แต่ที่ให้นัดวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 เวลา 9 นาฬิกาตามที่นัดไว้แล้ว เป็นการตกเติมด้วยลายมือเขียนมีลายมือชื่อผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาลงกำกับครั้นถึงวันนัดวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มาศาล ส่วนจำเลยที่ 3ยังไม่ทราบนัด ศาลชั้นต้นรอจนถึงเวลา 12 นาฬิกา จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ วันที่ 12 ธันวาคม 2540 มีคำร้องของโจทก์ยื่นต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ อ้างว่าเมื่อนัดวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 คู่ความและศาลตกลงกันแล้วให้ยกเลิกวันนัดวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 เพราะเป็นเวลากระชั้นชิด ข้อความตกเติมในรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 เกี่ยวกับเรื่องให้นัดวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 กระทำขึ้นภายหลังจากที่คู่ความและศาลได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วคู่ความไม่อาจทราบได้ โจทก์และเสมียนทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 มาศาลตามนัดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 โจทก์จึงได้ทราบเรื่องศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ดังนี้ คำร้องของโจทก์ฉบับดังกล่าว ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งความในวรรคสองแห่งมาตราดังกล่าวให้ยกขึ้นกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง โจทก์ทราบว่าถูกศาลสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดระเบียบเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ต้องยื่นคำร้องภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2540 ช้ากว่ากำหนดตามกฎหมาย โจทก์หมดสิทธิยื่น และศาลไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยให้โจทก์ ข้อที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่า ต้องเสียเวลาหลายวันในการขอดูสำนวน จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2540 โจทก์จึงได้ดูสำนวน นั้น เห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ้างเหตุล่าช้าดังกล่าวนี้ไว้ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นประเด็นในชั้นฎีกา ทั้งโจทก์สามารถที่จะเรียงคำร้องได้เมื่อทราบว่าถูกจำหน่ายคดีผิดระเบียบ โดยไม่จำต้องขอดูสำนวน หรือหากมีความจำเป็นจะต้องดูสำนวนโจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายเวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share