คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หุ้นที่ ม. โอนให้โจทก์เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น โดยมีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ว่าการโอนหุ้นให้บุคคลภายนอกต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อน และคณะกรรมการมีสิทธิบอกปัดการโอนโดยไม่ต้องแถลงเหตุผล ดังนี้ การโอนหุ้นระหว่าง ม. กับโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ขณะที่ ม. ทำสัญญาโอนหุ้นให้โจทก์นั้นได้ความว่า ม. เป็นกรรมการเพียงคนเดียวที่ทราบและอนุมัติการโอนหุ้นรายนี้ ส่วนกรรมการคนอื่นๆ ไม่ปรากฏว่าได้ทราบและอนุมัติด้วย แม้ ม. จะแจ้งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่รับโอนจาก ม. ก็ดี หรือ ม. จะแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจลงบันทึกประจำวันว่าได้แจ้งการโอนหุ้นแก่โจทก์ให้คณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบและได้รับความยินยอมแล้วก็ดี ยังฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ยินยอมหรืออนุมัติการโอนหุ้นรายนี้ การโอนหุ้นระหว่าง ม. กับโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2534 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นหมายเลข 9011 ถึง 9500 รวม 490 หุ้น ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและห้ามมิให้จำเลยทั้งสามกระทำการใด ๆ หรือขัดขวางการที่โจทก์จะโอนขายหุ้นให้บุคคลภายนอก
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการโอนขายหุ้นของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การโอนหุ้นระหว่างนายมงคลกับโจทก์ตามสัญญาโอนหุ้นชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า หุ้นที่นายมงคลโอนให้โจทก์เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น โดยมีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ว่าการโอนหุ้นให้บุคคลภายนอกต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อน และคณะกรรมการมีสิทธิบอกปัดการโอนโดยไม่ต้องแถลงเหตุผล ดังนี้ การโอนหุ้นระหว่างนายมงคลกับโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ขณะที่นายมงคลทำสัญญาโอนหุ้นให้โจทก์นั้น คงได้ความว่านายมงคลเป็นกรรมการที่ทราบและอนุมัติการโอนหุ้นรายนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนกรรมการคนอื่น ๆ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ทราบและอนุมัติด้วย แม้การที่นายมงคลแจ้งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่รับโอนจากนายมงคลก็ดี การที่นายมงคลแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจลงบันทึกประจำวันว่าได้แจ้งการโอนหุ้นแก่โจทก์ให้คณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบและได้รับความยินยอมแล้วก็ดี ล้วนเป็นหลักฐานที่นายมงคลทำขึ้นเพียงผู้เดียวทั้งสิ้นว่าคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ยินยอมหรืออนุมัติการโอนหุ้นรายนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการโอนหุ้นระหว่างนายมงคลกับโจทก์เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ในอันที่จะขอบังคับจำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้องได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share