แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41 บาท ที่โจทก์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนตรวจสอบตามคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ มีข้อตกลงว่าหากผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอคืนภาษีอากรต้องเสียภาษี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษีอากรตามการแจ้งการประเมินหรือสั่งให้ชำระไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือมีการโต้แย้งหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ยอมชำระให้จนครบถ้วนทันที การคืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิใช่การคืนให้โดยเด็ดขาด แต่เป็นการคืนโดยมีเงื่อนไขว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษีอากรที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น เจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เกินกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.51 บาท ที่ได้รับคืนไป โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองไม่คืนให้จึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที 1 คืนเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ขอคืนไปจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิได้ และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามหนังสือแจ้งการประเมินซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใดแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนก่อนตรวจสอบโดยจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2529 ข้อ 15.2 ข. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ แม้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะยังมิได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ตาม โจทก์มิได้ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมิน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนก่อนตรวจสอบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เกินกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2536 แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41 บาท มาคืนโจทก์ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวไปคืนโจทก์ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2536 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มาชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 รับคืนไปจากโจทก์จำนวน50,677,905.41 บาท ได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่14 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 มิใช่นับแต่วันที่14 ตุลาคม 2536 หรือวันที่จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนไปจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันมีข้อความยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเงิน 50,677,905.41 บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่ม ดังนี้คำว่าเงินเพิ่มนั้น ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ในมาตรา 27 กรณีบุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนและมาตรา 27 ทวิให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินภาษี ดังนั้น เงินเพิ่ม จึงมิใช่ดอกเบี้ย เมื่อกรณีพิพาทในคดีนี้ไม่มีเงินเพิ่มตามสัญญาค้ำประกันได้ระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด จึงไม่ใช่การค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 683 จำเลยที่ 2 จึงคงรับผิดในวงเงิน 50,677,905.41 บาท แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เมื่อโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าการตรวจสอบภาษีอากรเสร็จสิ้นแล้ว ผลการตรวจสอบจำเลยที่ 1 ต้องส่งคืนเงินภาษีอากรที่รับคืนเกินไปและให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,677,905.41 บาทไปชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่20 ธันวาคม 2536 แล้วไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งคืนภาษีอากรหรือชำระหนี้ภาษีอากรคืนพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 66,745,578.29 บาทแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินภาษีจำนวน 50,677,905.41 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งคืนเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41 บาท ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของเงินภาษีอากรดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530ว่าจำเลยที่ 1 มีกำไรสุทธิ 243,924,830.47 บาท จำนวนเงินภาษี85,373,690.65 บาท เครดิตภาษีหัก ณ ที่จ่ายชำระไว้แล้ว136,051,596.06 บาท ภาษีเงินได้ที่ชำระไว้เกิน 50,677,905.41 บาทตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 37 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรที่อ้างว่าได้ชำระไว้เกินจำนวนดังกล่าวตามคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 10 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ในการคืนเงินภาษีอากรระหว่างการตรวจสอบภาษีอากร ตามหนังสือค้ำประกันลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9และโจทก์ได้คืนเงินภาษีอากร 50,677,905.41 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1ไปแล้ว ก่อนการตรวจสอบตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2529 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2533 ตามเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 15 จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ปรากฏว่าไม่มีเงินภาษีอากรต้องคืนตามคำร้อง จำนวน 50,677,905.41 บาทและจำเลยที่ 1 ยังต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติมอีก 3,182,397.36 บาทคำนวณถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2536 ต้องชำระเบี้ยปรับ 3,182,397.36บาท เงินเพิ่ม 3,007,365.48 บาท รวมเป็นเงินภาษีต้องชำระทั้งสิ้น9,372,160.20 บาท ตามการคำนวณเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 97 เจ้าพนักงานประเมินจึงได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1ให้นำเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไปชำระจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 104, 103 ต่อมาวันที่ 6 กันยายน2536 จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามคำอุทธรณ์เอกสารหมายจ.2 แผ่นที่ 132 วันที่ 12 ตุลาคม 2536 โจทก์ได้มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนเงินภาษีอากรที่รับคืนเกินไปจำนวน50,677,905.41 บาท ตามหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรที่รับเกินไป เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 29 และวันที่ 22 ตุลาคม2536 จำเลยที่ 1 มีหนังสือขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องส่งคืนเงินภาษีอากรที่รับคืนไปตามเอกสารหมายลบ.1 แผ่นที่ 42 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยที 2 นำเงินค้ำประกันไปชำระตามเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 31 ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางที่จะทำการพิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 50,677,905.41 บาทจากเงินเครดิตภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งโจทก์คืนให้แก่จำเลยที่ 1ก่อนการตรวจสอบตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากรพ.ศ. 2529 ข้อ 15.2 ข. โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งมีข้อตกลงว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขอคืนภาษีอากรดังกล่าวต้องเสียภาษีอากร แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษีอากรตามการแจ้งการประเมินหรือสั่งให้ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือมีการโต้แย้งหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ยอมชำระให้จนครบถ้วนทันที คดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพัน ซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากรตามมาตรา 7(4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 92ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า เงินภาษีอากรจำนวน50,677,905.41 บาท ที่โจทก์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนตรวจสอบตามคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 มีข้อตกลงว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอคืนภาษีอากรต้องเสียภาษี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษีอากรตามการแจ้งการประเมินหรือสั่งให้ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือมีการโต้แย้งหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ยอมชำระให้จนครบถ้วนทันที่ การคืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิใช่การคืนให้โดยเด็ดขาด แต่เป็นการคืนโดยมีเงื่อนไขว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษีอากรที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ปรากฏว่าเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น เจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เกินกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายเป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41บาท ที่ได้รับคืนไป โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองไม่คืนให้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1ขอคืนไปจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิได้ และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมิน นั้นปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1ต้องชำระตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 104ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนก่อนตรวจสอบ โดยจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 ตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2529 ข้อ 15.2 ข.
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยจากเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 รับคืนไปจำนวน 50,677,905.41 บาท ได้หรือไม่เพียงใด จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีจึงยังไม่ยุติว่า จำเลยที่ 1ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด และประมวลรัษฎากรบัญญัติให้มีการเรียกเบี้ยปรับ เงินเพิ่มไว้แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนไปจากโจทก์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 104 แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนก่อนตรวจสอบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เกินกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2536 แจ้งให้จำเลยที่ 1นำเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41 บาท มาคืนโจทก์ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 29 จำเลยที่ 1จึงมีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวไปคืนโจทก์ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน2536 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 รับคืนไปจากโจทก์จำนวน 50,677,905.41 บาท ได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 มิใช่นับแต่วันที่14 ตุลาคม 2536 ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยหรือวันที่จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนไปจากโจทก์ดังที่ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 มีข้อความยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เป็นเงิน 50,677,905.41 บาทพร้อมทั้งเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์ว่า คำว่าเงินเพิ่มคือดอกเบี้ยเห็นว่า คำว่าเงินเพิ่ม นั้น ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ในมาตรา 27กรณีบุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน และมาตรา 27 ทวิให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินภาษี เงินเพิ่ม จึงมิใช่ดอกเบี้ยเมื่อกรณีพิพาทในคดีนี้ไม่มีเงินเพิ่มตามสัญญาค้ำประกันได้ระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด จึงไม่ใช่การค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 683 จำเลยที่ 2จึงคงรับผิดในวงเงิน 50,677,905.41 บาท แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เมื่อโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าการตรวจสอบภาษีอากรเสร็จสิ้นแล้ว ผลการตรวจสอบจำเลยที่ 1ต้องส่งคืนเงินภาษีอากรที่รับคืนเกินไปและให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,677,905.41 บาท ไปชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม2536 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 31 จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2536เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2536 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง