แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 อ้างเหตุเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับราชการทหารกองประจำการประจำอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 2 จังหวัดสระบุรี เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากญาติว่าทนายความคนก่อนไม่คัดค้านการที่จำเลยที่ 2 จะแต่งตั้งทนายความคนใหม่ให้ดำเนินคดีในชั้นฎีกา จำเลยที่ 2 จึงขอลาราชการมาหาทนายความคนใหม่ แต่เป็นเวลากะทันหัน เพราะคดีเกี่ยวพันกันสามสำนวนมีพยานบุคคลหลายปาก เอกสารต่าง ๆได้รับจากทนายความคนเดิมไม่ครบ ทนายความคนใหม่ไม่อาจทำฎีกาได้ทันในเวลาที่กำหนด ดังนี้ ข้ออ้างดังกล่าวหาใช่พฤติการณ์พิเศษตามที่กฎหมายบัญญัติไม่
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1757/2537 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสุมาลี เครือคต และนายใหญ่ ภาคอินทรีย์ เป็นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับเรียกสิบตำรวจตรีประเสริฐ นิลนาค นายประกิจหรือกบ ลมูลภักตร์หรือลมูลภัตร นายวิเชียรหรือเชียร คุ้มภัย นายธีระหรือระ เขม้นกสิกร นายเสกสรรค์หรืออัน ภาคาธูปและนายอภิรัตน์หรือเป็ด กิจแพ ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาในชั้นนี้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189, 288, 289, 297, 364, 365, 371, 83, 91ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 365(2)(3), 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก6 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ริบของกลางยกฟ้องข้อหาอื่น จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 364, 365(1)(2)(3) ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 10กรกฎาคม 2539 ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่มีพฤติการณ์พิเศษ ไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 อ้างเหตุแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 รับราชการทหารกองประจำการประจำอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 2จังหวัดสระบุรี เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากญาติว่าทนายความคนก่อนไม่คัดค้านการที่จำเลยที่ 2 จะแต่งตั้งทนายความคนใหม่ให้ดำเนินคดีในชั้นฎีกา จำเลยที่ 2 จึงขอลาราชการมาหาทนายความคนใหม่ แต่เป็นเวลากะทันหัน เพราะคดีเกี่ยวพันกันสามสำนวนมีพยานบุคคลหลายปาก เอกสารต่าง ๆ ได้รับจากทนายความคนเดิมไม่ครบทนายความคนใหม่ไม่อาจทำฎีกาได้ทันในเวลาที่กำหนด ดังนี้ ข้ออ้างดังกล่าวหาใช่พฤติการณ์พิเศษตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน