คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่า ผู้วายชนม์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์จำเลยต่อสู้ว่าพินัยกรรมนั้นปลอมเช่นนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า พินัยกรรมที่อ้างนี้ไม่ปลอม
การเชื่อฟังพยานหลักฐานในข้อที่ว่าลายมือชื่อในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมหรือไม่นั้น ตามปกติควรเชื่อคำประจักษ์พยานยิ่งกว่าคำผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์หลักฐานเพราะประจักษ์พยานเป็นผู้ได้ยินกับหูเห็นด้วยตาของตนเองทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเหตุผลต่างๆประกอบให้พอเชื่อฟังได้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับพระยาวิชิตสาสาตร์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนสมรสพระยาวิชิตสาสาตร์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์กับบุตร ขอให้ศาลพิพากษาว่า ทรัพย์ตามบัญชี ข.ท้ายฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และบุตรตามพินัยกรรม ฯลฯ

จำเลยต่อสู้ว่า พินัยกรรมปลอม ทั้งทำไม่ถูกแบบเพราะไม่มีลายเซ็นชื่อผู้พิมพ์พินัยกรรม ๆ จึงเป็นโมฆะ โจทก์มิได้เป็นภริยาของพระยาวิชิตสรสาสตร์เพราะได้เสียกันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์และบุตรจึงมิได้เป็นทายาทโดยธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของพระยาวิชิตสรสาตร์

ศาลชั้นต้นฟังว่า พระยาวิชิตสรสาตร์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกรายพิพาทให้แก่โจทก์และบุตรของโจทก์ตามพินัยกรรมที่โจทก์อ้างแม้พินัยกรรมไม่มีลายเซ็นของผู้พิมพ์ข้อความ ก็ใช้ได้ พิพากษาว่าทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง หมาย ข. เป็นมรดกตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และบุตรโจทก์ตามพินัยกรรมที่โจทก์อ้าง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์เหล่านั้น ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เรื่องนี้โจทก์อ้างว่า พระยาวิชิตสรสาตร์ผู้วายชนม์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และบุตรของโจทก์แต่จำเลยต่อสู้ว่าเป็นพินัยกรรมปลอม เช่นนี้ เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า พินัยกรรมที่อ้างไม่ปลอม การเชื่อฟังพยานหลักฐานในข้อนี้ตามปกติควรเชื่อคำประจักษ์พยานยิ่งกว่าคำผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์หลักฐาน เพราะประจักษ์พยานเป็นผู้ได้ยิน กับหู เห็นด้วยตาของตนเอง ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเหตุผลต่าง ๆประกอบให้พอเชื่อฟังได้ด้วย ศาลฎีกาพิจารณาแล้วฟังว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมที่โจทก์อ้าง ไม่ใช่ลายเซ็นชื่ออันแท้จริงของพระยาวิชิตสรสาตร์ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาในข้อที่ว่าผู้พิมพ์พินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรม เป็นการชอบด้วยกฎหมายเพียงไรหรือไม่

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า นางน้อมโจทก์ได้เสียกับพระยาวิชิตสรสาตร์โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ภายหลังวันที่ใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยการจดทะเบียนสมรสแล้ว นางน้อมโจทก์จึงไม่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพระยาวิชิตสรสาตร์ แต่นางสาวสุภาพ นายประภาส เด็กชายกมลเด็กหญิงสุพัตรา โจทก์เป็นบุตรของพระยาวิชิตสรสาตร์ที่เกิดกับนางน้อมโจทก์ แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย ก็เป็นบุตรที่พระยาวิชิตสรสาตร์ได้รับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิรับมรดกของพระยาวิชิตสรสาตร์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 จึงต้องแบ่งปันให้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม พระยาวิชิตสรสาตร์มีบุตรกับคุณหญิงเลียบ 5 คน พระยาวิชิตสรสาตร์หย่ากับคุณหญิงเลียบแล้วและมีบุตรกับนางน้อมโจทก์ 4 คนคือ นางสาวสุภาพ นายประภาสเด็กชายกมล เด็กหญิงสุพัตรา เป็นทายาทโดยธรรม ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1), 1633

พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ว่า ให้แบ่งทรัพย์มรดกรายพิพาทออกเป็น9 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้นางสาวสุภาพ นายประภาส เด็กชายกมลเด็กหญิงสุพัตราโจทก์ได้รับคนละหนึ่งส่วน

Share