คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากันโจทก์ฟ้องขอแบ่งส่วนมรดกของบิดาครึ่งหนึ่ง จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์มีส่วนไม่ถึงครึ่ง เพราะควรตกเป็นของมารดาจำเลย 2 ใน 3 ที่เหลืออีก 1 ใน 3 จึงเป็นของโจทก์เพียง 1 ใน 3
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาเรื่องฟ้องและคำให้การโดยย่อ ข้อที่คู่ความรับกัน และต่างไม่ติดใจสืบพยาน แล้วศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาต่อไปว่า ‘ประเด็นมีเฉพาะข้อที่ว่าโจทก์ควรได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งตามฟ้องหรือควรได้ส่วนแต่เท่าที่จำเลยต่อสู้’
ดังนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ใช่เรื่องที่คู่ความท้ากันโดยจำกัดให้ศาลชี้ขาดเพียง 2 ทางว่าส่วนแบ่งนั้นถ้าโจทก์ไม่ได้ครึ่งหนึ่งตามฟ้องแล้ว จักต้องเป็นไปดังจำเลยให้การต่อสู้หากแต่เป็นเรื่องที่คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามประเด็นที่ฟ้องและต่อสู้ซึ่งศาลจะต้องพิพากษาไปตามบทกฎหมายและรูปคดี ฉะนั้นศาลมีอำนาจพิพากษาแบ่งส่วนเป็นอย่างอื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินมีโฉนด 1 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน มีชื่อนางจ๊อกและนายแก้วเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เฉพาะส่วนของนายแก้วบิดาโจทก์นั้นได้มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์และมารดาจำเลยกับจำเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินของนายแก้วร่วมกัน แต่ในคดีนั้นยังไม่มีการแบ่งที่ดินกัน จึงคงครอบครองร่วมกันมา เนื่องจากนายแก้วและมารดาจำเลยตายแล้ว จึงตกเป็นมรดกแก่โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง คือที่ดินส่วนของนายแก้ว 4 ไร่ 1 งาน 50 วา ขอให้ศาลแบ่งออกเป็นของโจทก์จำเลยคนละส่วน ๆ ละ 2 ไร่ 75 วา หากแบ่งไม่ตกลงกันก็ขอให้ประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกัน

จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดากัน แต่ต่างมารดากัน ทรัพย์รายพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายแก้วกับมารดาจำเลย ซึ่งสมรสกันก่อนใช้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บรรพ 5 โดยมารดาจำเลยมีสินเดิมฝ่ายเดียว ฉะนั้นทรัพย์พิพาทจึงตกเป็นของมารดาจำเลย 2 ใน 3 ส่วนอีก 1 ใน 3 ตกเป็นของมารดาจำเลยและโจทก์จำเลยเท่า ๆ กัน

ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาโดยย่อถึงคำขอของโจทก์ และข้อต่อสู้ของจำเลย และข้อที่คู่ความรับกันว่านายแก้วมีภริยา2 คนคือมารดาจำเลยและมารดาโจทก์ ซึ่งต่างตายไปหมดแล้ว และศาลจดรายงานพิจารณาต่อไปว่า

“ประเด็นมีเฉพาะข้อที่ว่าโจทก์ควรได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งตามฟ้องหรือควรได้ส่วนแต่เท่าที่จำเลยต่อสู้

คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดไปได้ทีเดียว”

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่า การแบ่งสินสมรสต้องแบ่งอย่างหย่าให้มารดาจำเลยก่อนนั้น จำเลยมิได้นำสืบว่ามารดาจำเลยมีสินเดิมฝ่ายเดียวจริงหรือไม่ จึงต้องฟังว่าต่างมีสินเดิมมาด้วยกัน ต้องแบ่งให้สามี 2 ส่วน ภริยา 1 ส่วน ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ส่วนของนายแก้วสามีเป็นมรดกต้องแบ่งระหว่างทายาท คือมารดาจำเลย และโจทก์กับจำเลย โจทก์คงได้รับ 1 ใน 3 พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามส่วน ถ้าไม่ตกลงก็ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษานอกเหนือจากคำท้าที่ปรากฏในรายงานพิจารณาว่า “ประเด็นมีเฉพาะข้อที่ว่า โจทก์ควรได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งตามฟ้อง หรือควรได้ส่วนแต่เท่าที่จำเลยต่อสู้” เมื่อศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้ส่วนแบ่งตามฟ้อง ก็ชอบที่จะพิพากษาให้ได้แต่ส่วนตามที่จำเลยต่อสู้ จะวินิจฉัยไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความในรายงานพิจารณานั้นไม่ใช่ข้อความที่ขอให้ศาลพิพากษา แต่เป็นข้อความที่มุ่งหมายถึงว่าคดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยในเรื่องส่วนแบ่งเท่านั้น ประเด็นข้ออื่นไม่ติดใจโต้เถียงต่อไป พิพากษายืน

จำเลยฎีกาเช่นเดียวกับอุทธรณ์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิจารณาตามคำฟ้อง คำให้การและรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่คู่ความท้ากันโดยจำกัดให้ศาลพิพากษาชี้ขาดเพียง 2 ทางว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งตามฟ้องแล้ว โจทก์จะต้องได้ส่วนแบ่งตามที่จำเลยให้การต่อสู้ หากแต่เป็นเรื่องที่คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้นั่นเอง ซึ่งศาลจะต้องพิพากษาไปตามบทกฎหมายและรูปคดี หาใช่จำกัดให้พิพากษาเพียง 2 ทางดังจำเลยฎีกาไม่ และศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาท จึงพิพากษายืน

Share