คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO.550523004 และ PO.550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวนและทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,547,827.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,474,995.80 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 52,601.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 52,601.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 กันยายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 4 กันยายน 2557) ต้องไม่เกิน 72,832 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 1 ตกลงรับเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามสำเนาสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคาร (ตกแต่งภายใน) โครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อสนับสนุนโครงการปรับปรุง และตกแต่งอาคารที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยขอสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N – Pre Finance) จำนวนเงิน 60,000,000 บาท และสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N – Post Finance) จำนวนเงิน 60,000,000 บาท ในการขอสินเชื่อดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้อง ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้างเหมาปรับปรุงอาคาร ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 205,529,194.72 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและจำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วงงานและเป็นเจ้าหนี้การค้าจำเลยที่ 1 ในงานโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามสำเนาใบสั่งซื้อ แต่มีปัญหาในการดำเนินการก่อสร้างกับโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ประชุมร่วมกัน เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 ได้ข้อยุติว่าจำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 2 หักเงินค่าจ้างที่จะพึงได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในงานงวดที่ 16 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,474,995.80 บาท ในการนี้มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จัดส่งสินค้าและติดตั้งสินค้าทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 16 แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 หักเงินค่าจ้างงานงวดที่ 16 ที่จะพึงได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,474,995.80 บาท จำเลยที่ 2 มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์สอบถามไปยังนายชานนท์ ตัวแทนของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานโครงการดังกล่าวเพื่อขอรับคำยืนยันที่จะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้การค้าต่างๆ ของจำเลยที่ 1 รวมถึงโจทก์ นายชานนท์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ตอบยืนยันยอดรายการกลับไปยังจำเลยที่ 2 โจทก์แจ้งจำเลยที่ 2 ให้ชำระเงิน แต่จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่า ไม่สามารถหักเงินชำระให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 แจ้งขอยกเลิกหนังสือขอให้หักจ่ายชำระหนี้แก่โจทก์และเจ้าหนี้การค้ารายอื่นๆ แล้ว คดีในส่วนจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์และคดีในส่วนจำเลยที่ 2 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่ฎีกา
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างงวดที่ 16 โครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เป็นผลให้หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไปและทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO. 550523004 และ PO. 550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามสำเนาคำขอสินเชื่อธุรกิจ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวน และทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสำเนาใบสั่งซื้อสินค้า และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาประการอื่นของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงได้ ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share