แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่จะจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่งคือมีผู้นำจับให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ กรณีที่สองตามวรรคสองคือไม่มีผู้นำจับให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ และตามมาตรา 9 บัญญัติให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ดังนั้น เมื่อรางวัลที่จะจ่ายให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมมีอยู่สองอัตรา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องบรรยายในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจะขอให้ศาลจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมในกรณีมีหรือไม่มีผู้นำจับ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องให้ชัดเจนว่ามีผู้นำจับ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าคดีนี้มีผู้นำจับ ดังนี้ ต้องจ่ายรางวัลให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละยี่สิบตามมาตรา 8 วรรคสอง กรณีไม่มีผู้นำจับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2539 เวลากลางวันจำเลยทำไม้ประดู่ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยการใช้เครื่องเลื่อยยนต์เลื่อย ตัด ฟัน โค่น ออกจากต้นจำนวน 1 ต้น ในป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากที่จำเลยทำไม้แล้วจำเลยได้แปรรูปไม้ประดู่ดังกล่าวโดยการเลื่อยออกเป็นแผ่นจำนวน 17 แผ่น ปริมาตร 0.24 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตกับจำเลยมีไม้ประดู่แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้ช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์ยี่ห้อสติลพร้อมบาร์และโซ่ จำนวน 1 เครื่อง ราคา 7,000 บาท โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรสำหรับของนั้น จำนวน 2,100 บาท รวมราคาเครื่องยนต์และค่าอากรเป็นเงิน 9,100 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมไม้แปรรูปและเครื่องเลื่อยยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์พร้อมบาร์และโซ่อันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัดสำหรับของนั้น แต่ปฏิเสธฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง, 35 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ฐานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือน ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์พร้อมบาร์และโซ่ อันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน สำหรับข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์พร้อมบาร์และโซ่อันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัด ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือน ริบของกลาง และให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางที่ศาลริบในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานทำไม้ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน เมื่อรวมกับโทษฐานแปรรูปไม้ ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์พร้อมบาร์และโซ่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยแล้วเป็นจำคุก 1 ปี 2 เดือน 15 วัน จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบไว้ในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ แก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาขอให้สั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 คดีมีปัญหาว่า จะสั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับจำนวนเท่าใด เห็นว่า กรณีที่จะจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่งคือมีผู้นำจับให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ กรณีที่สองตามวรรคสองคือไม่มีผู้นำจับให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ และตามมาตรา 9 บัญญัติให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ดังนั้น เมื่อรางวัลที่จะจ่ายให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมมีอยู่สองอัตรา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องบรรยายในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจะขอให้ศาลจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมในกรณีมีหรือไม่มีผู้นำจับ เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องให้ชัดเจนว่ามีผู้นำจับ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจึงฟังไม่ได้ว่าคดีนี้มีผู้นำจับ จึงต้องจ่ายรางวัลให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละยี่สิบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีไม่มีผู้นำจับ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบไว้ในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ แก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1