คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หามีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นเป็นของผู้อื่นหรือไม่ใช่ทรัพย์สินของตนแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินของตนเองที่รับโอนมรดกมา แม้จำเลยเพิ่งจะทราบภายหลังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลย เมื่อปี 2547 ก็ตามแต่เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันมาเกินกว่าสิบปีโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านจำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว โดยหาจำต้องเป็นการครอบครองโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนต้นไม้และสิ่งปลูสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา โดยการครอบครองห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องและให้โจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีเขียวอ่อนตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งานเศษ (ที่ถูก เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3025 ตำบลบ้านไร่ (ชาวเหนือ) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายใบ นายสมหวัง นางสาวสัมแป้น และนางสาวอุดม ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3024 โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางแรม และนางริม ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือโดยมีแนวคันดินกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลย ต่อมาปี 2547 โจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีเขียวอ่อนตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ข้อแรกในปัญหาข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยไปให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า นายโตเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายฮวบเจ้าของที่ดินเดิมของจำเลย แต่ไม่ได้รังวัดแบ่งแยกและยกให้ครอบครอง โดยไม่มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานใดๆ มานำสืบแสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งในโฉนดที่ดินของจำเลยยังปรากฏว่า นายฮวบเคยนำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่บุคคลอื่น จึงไม่น่าเชื่อว่านายฮวบจะมีเงินซื้อที่ดินพิพาทจากนายโต ส่วนบันทึกถ้อยคำของนางสาวส้มแป้นเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างว่านางสาวส้มแป้นได้ร่วมไปชี้แนวเขตที่ดินพิพาทและให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าได้สอบถามญาติพี่น้องแล้วยืนยันว่า เดิมเคยมีการซื้อขายที่ดินพิพาทกัน แต่ไม่ได้รังวัดแบ่งแยก เพียงแต่ยกการครอบครองให้ทำประโยชน์จนถึงปัจจุบันนั้นไม่เป็นความจริงความจริงนางสาวส้มแป้นไม่เคยไปชี้ระวังแนวเขตให้แก่จำเลยและไม่เคยให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานที่ดิน ลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวก็ไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของนางสาวส้มแป้น เป็นลายมือชื่อปลอม พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงยังเป็นที่สงสัย เอกสารหมาย ล.1 ไม่น่ารับฟังและจะนำมาใช้เป็นหลักฐานเพื่ออ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยสรุปได้ความว่าจำเลยกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมได้รับโอนมรดกที่ดินโฉนดดังกล่าวสืบทอดต่อจากเจ้าของเดิมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 ครั้นต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2535 จำเลยกับพวกได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินดังกล่าว โดยระบุนายใบ เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเลขที่ดิน 105/75 ตามเอกสารหมายเลข 1 ที่แนบท้ายคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในบันทึกถ้อยคำของนายใบเอกสารหมาย ล.4 ที่อ่านได้ความว่านายใบได้ให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2535 ว่า ได้ร่วมออกไปชี้ระวังรับรองแนวเขตที่ดินของตนโดยถือเอาแนวคันดินเป็นแนวเขต และรับรองการรังวัดว่าไม่ได้รุกล้ำแนวเขตของตนแต่อย่างใด ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่านายใบไม่เคยให้ถ้อยคำดังกล่าว และลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของนายใบแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีบันทึกถ้อยคำที่นางสาวส้มแป้นได้ลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงเลขที่ 105/75 ฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 รับรองแนวเขตที่ดินของจำเลยถูกต้องโดยมีแนวคันนากั้นเป็นเขตแน่นอนอยู่แล้วตามเอกสารแนบท้ายหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 ซึ่งโจทก์และนางสาวส้มแป้นก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งบันทึกถ้อยคำดังกล่าวว่า นางสาวส้มแป้น ไม่เคยให้การหรือลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวแต่อย่างใดเช่นกัน ฉะนั้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงฟังได้ว่า ทั้งนายใบและนางสาวส้มแป้นเคยออกไปนำชี้ระวังแนวเขตของตนในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงและรับรองแนวเขตที่ดินของจำเลยโดยยึดแนวคันดินตามภาพถ่ายหมาย จ.3 เป็นแนวเขตในขณะที่จำเลยขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2535 มาก่อนจริง ทั้งยังได้ลงนามรับรองว่าการรังวัดครั้นนั้นถูกต้องไม่ได้รุกล้ำที่ดินของตนแต่อย่างใด ฉะนั้น แม้โจทก์และนางสาวส้มแป้นจะนำสืบภายหลังปฏิเสธว่าลายมือชื่อของนางสาวส้มแป้นที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 เป็นลายมือชื่อปลอม รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจฟังหักล้างข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคำที่นายใบกับนางสาวส้มแป้นว่าเคยไปให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินและลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินของจำเลยไว้ก่อนหน้านั้นตามที่กล่าวมาแล้วพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังว่า จำเลยสืบทอดการครอบครองที่ดินทั้งแปลงร่วมทั้งที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมตั้งแต่วันรับโอนมรดก (วันที่ 17 พฤษภาคม 2534) จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 มิถุนายน 2547) นับเป็นเวลานานกว่าสิบปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น ฉะนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทได้นั้น เห็นว่า ในการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นหามีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นเป็นของผู้อื่นหรือไม่ใช่ทรัพย์สินของตนแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินของตนเองที่รับโอนมรดกมา แม้จำเลยจะเพิ่งทราบภายหลังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลย เมื่อปี 2547 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันมาเกินกว่าสิบปีโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว โดยหาจำต้องเป็นการครอบครองโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นตามที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share