แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมปีละ 65,000 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปีดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปี แก่โจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 สัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า เมื่อกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยยังมีเวลารื้อถอนและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าต่อไปอีก 30 วัน ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยภายใน35 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดที่จำเลยมีสิทธิส่งทรัพย์ที่เช่าคืนว่าจะไม่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปนับได้ว่าเป็นเวลาอันสมควรและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์มิได้นิ่งเฉย หรือไม่ทักท้วงที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ถือไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์จึงมีสิทธิ เรียกค่าเสียหายได้เริ่มแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเป็นต้นไปและสิ้นสุดก่อนวันที่จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่า คืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งใดที่ ตกลงไว้ และต้องใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่โจทก์ ได้มีหนังสือขยายเวลาให้จำเลยรื้อถอนป้ายโฆษณาและส่งมอบทรัพย์ ที่เช่าคืนภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้ว เมื่อจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงมีสิทธิรื้อถอนส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนโจทก์ได้จนถึง ภายในวันที่ 24 เมษายน 2536 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยในช่วงเวลาดังกล่าว คงเรียกได้แต่เพียงค่าเสียหายปกติ คือค่าเช่าในอัตราและเงื่อนไขเดิมส่วนค่าเสียหายที่เป็นเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2536นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับตามที่ตกลงไว้ได้ซึ่งถ้าเบี้ยปรับอันมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดก้นไว้ล่วงหน้านั้นสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้และเมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 2,000 บาทอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าพื้นที่ป้ายโฆษณาบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง-ท่าเรือ บางนา-ท่าเรือ จำนวน 25 ป้าย จากโจทก์ มีกำหนด3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2535ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน ปีแรกเดือนละ 31,817 บาทปีที่สองเดือนละ 33,408 บาท ปีที่สามเดือนละ 35,078.50 บาทและจำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ปีละ 65,000 บาท ถ้าสัญญาสิ้นสุดลง จำเลยต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าแก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยภายใน 30 วัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ยอมให้โจทก์คิดค่าเสียหายในอัตรา 3 เท่า ของค่าเช่าปีสุดท้าย โดยคิดเป็นรายวันจนกว่าจะดำเนินการเสร็จ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์มีหนังสือให้จำเลยรื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงคิดค่าเสียหายตามสัญญาในอัตราวันละ3,507.85 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 1,501,359.80 บาท แต่เนื่องจากหลังครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยยังนำเงินไปชำระให้โจทก์เดือนละ 35,078.50 บาท โจทก์รับไว้ในฐานะค่าเสียหายส่วนหนึ่งรวม 15 งวด เป็นเงินจำนวน 526,177.50บาท หักแล้วคงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 975,182.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนป้ายโฆษณาบริเวณใต้ทางด่วนสายดินแดง-ท่าเรือ บางนา-ท่าเรือ จำนวน 25 ป้ายแล้วขนย้ายออกไปจากบริเวณดังกล่าวและส่งมอบพื้นที่แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 975,182.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และชำระค่าเสียหายอีกวันละ 3,507.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนป้ายโฆษณาเสร็จและส่งมอบสถานที่เช่าคืนโจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกันโจทก์ไม่มีความเสียหายและไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจากโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 299,215 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 179,215 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน316,452 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่1 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเช่าพื้นที่ป้ายโฆษณาบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง-ท่าเรือบางนา-ท่าเรือ จำนวน 25 ป้าย จากโจทก์มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2535 ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน ปีแรกเดือนละ 31,817 บาท ปีที่สองเดือนละ 33,408 บาท ปีที่สามเดือนละ 35,078.50 บาท และจำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ปีละ 65,000 บาท ถ้าสัญญาสิ้นสุดลง จำเลยต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยภายใน 30 วัน หลังจากวันที่สัญญาสิ้นสุดด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองหากจำเลยไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว จำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราวันละ 3 เท่าของค่าเช่าที่คิดเป็นรายวันในปีสุดท้ายของสัญญาไปจนกว่าจะดำเนินการเสร็จ หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้ส่งมอบพื้นที่เช่าตั้งป้ายแก่โจทก์แล้วได้มีการทำบันทึกไว้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปีแก่โจทก์ เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมปีละ 65,000 บาท ให้แก่โจทก์แต่คำขอท้ายคำฟ้องนั้นโจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปีดังกล่าว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมรายปีจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่าโจทก์เรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายได้เพียงใด มีข้อที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเริ่มแต่เมื่อใดและสิ้นสุดเมื่อใดข้อเท็จจริงได้ความว่า กำหนดเวลาเช่าตามสัญญาสิ้นสุดในวันที่14 ตุลาคม 2535 แต่เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2535 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แสดงความประสงค์ขอทำสัญญาเช่าต่ออีก 3 ปีในนามบริษัท 12 โปรโมชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2535 โจทก์มีหนังสือตอบจำเลยว่าไม่อนุญาตให้ทำสัญญาเช่าต่อจากสัญญาเดิม และให้จำเลยรื้อถอนป้ายโฆษณาออกไปภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ โดยระหว่างการรื้อถอนป้ายโฆษณา ให้จำเลยนำค่าเช่ามาชำระในอัตราและเงื่อนไขเดิมตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา เห็นว่า เมื่อกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยยังมีเวลารื้อถอนและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าต่อไปอีก 30 วัน ดังนั้น จำเลยมีสิทธิส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.4ของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535 ประกอบกับโจทก์เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกฎระเบียบในการพิจารณาดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยภายใน 35 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดที่จำเลยมีสิทธิส่งทรัพย์ที่เช่าคืนคือวันที่ 30 พฤศจิกายน2535 ดังกล่าวข้างต้นว่าไม่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไป นับได้ว่าเป็นเวลาอันสมควรและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์มิได้นิ่งเฉยหรือไม่ทักท้วงที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เริ่มแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป และสิ้นสุดก่อนวันที่จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2537
มีข้อที่ต้องพิจารณาต่อไปถึงจำนวนค่าเสียหาย เห็นว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งใดที่ตกลงไว้ต้องใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่โจทก์ได้มีหนังสือขยายเวลาให้จำเลยรื้อถอนป้ายโฆษณาและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5ซึ่งพยานโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยรับหนังสือเมื่อใด จึงอนุมานจากเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยทราบในวันที่25 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงต้องรื้อถอนส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนภายในวันที่ 24 เมษายน 2536 อันถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยในช่วงเวลาดังกล่าว คงเรียกได้แต่เพียงค่าเสียหายปกติคือค่าเช่าในอัตราและเงื่อนไขเดิมคือเดือนละ 35,078.50 บาทนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2536 เป็นเวลา 6 เดือน 10 วัน เป็นค่าเสียหาย 222,163.80 บาท ส่วนค่าเสียหายที่เป็นเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2536 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับตามที่ตกลงไว้ได้ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับอันมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้านั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าสมควรกำหนดเบี้ยปรับวันละ 2,000 บาท เวลาเริ่มตั้งแต่วันที่25 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 เป็นเวลา 401 วัน เป็นค่าปรับ 802,000 บาท รวมกับค่าเสียหายข้างต้น 222,163.80 บาท เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,024,163.80 บาท โจทก์ยอมรับตามคำฟ้องว่านับแต่สัญญาเช่าสิ้นสุด จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์อีก 15 งวด เป็นเงิน 526,177.50 บาท นอกจากนี้นายวินิจ เจนจิตติกุล พยานโจทก์ยังเบิกความรับว่าใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.11 (11 ฉบับ) เป็นใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย และภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วจำเลยได้ทำบันทึกขอส่งมอบพื้นที่เช่าตั้งป้ายโฆษณากับขอลดหย่อนเป็นเบี้ยปรับตามเอกสารหมาย จ.10 ศาลได้ตรวจดูเอกสารดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย ล.11 มีระบุข้อความว่า ชำระค่าเช่าเกินสัญญาโดยใบเสร็จฉบับสุดท้ายเป็นใบเสร็จรับเงินงวดที่ 17 เป็นค่าเช่าระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นภายหลังฟ้องส่วนตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเอกสารที่ทำหลังฟ้องระบุข้อความว่า หลังฟ้องจำเลยชำระอีก 4 งวด งวดละ 35,078 บาท ดังนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้มากกว่า 15 งวด ตามที่โจทก์รับคำฟ้องโดยเป็นการชำระหลังฟ้องอีก 4 งวด เป็นเงิน 140,314 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาสิ้นสุดจำนวน666,491.50 บาท จึงคงเหลือค่าเสียหายก่อนส่งมอบพื้นที่เช่าตั้งป้ายโฆษณา (ส่งมอบเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537) ที่ยังไม่ชำระจำนวน 357,672.30 บาท ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้นตามฟ้องโจทก์ที่เรียกค่าเสียหายวันละ 3,507.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนป้ายโฆษณาและส่งมอบสถานที่เช่าคืนโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อศาลกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 2,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายในอนาคตแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกันแต่อย่างไรก็ดีโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายก่อนส่งมอบพื้นที่ที่เช่าตั้งป้ายโฆษณาส่วนที่เหลือก่อนฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคือค่าเสียหายในอัตราและเงื่อนไขเดิมจำนวน222,163.80 บาท กับค่าเสียหายที่เป็นเบี้ยปรับวันละ 2,000 บาทนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2536 ถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 กุมภาพันธ์2537 เป็นเวลา 293 วัน เป็นเบี้ยปรับจำนวน 586,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายถึงวันฟ้องจำนวน 808,163.80 บาท แต่จำเลยชำระก่อนวันฟ้องแล้วจำนวน 526,177.50 บาท จึงเหลือจำนวนต้นเงินที่โจทก์มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังฟ้องเพียง281,986.30 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน357,672.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 281,986.30 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์