คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญานั้นต้องตีความในทางที่คู่กรณีอาจปฏิบัติได้การปฏิบัติของคู่สัญญาอาจประกอบให้เห็นเจตนาแท้จริงได้
สัญญาค้ำประกันมีว่า “ใช้สำหรับระหว่าง 2 เดือน” หมายความว่าผู้ค้ำประกันรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างเวลานั้น แม้จะค้างชำระอยู่จนพ้นกำหนดนั้นไปก็ตามไม่ใช่ว่าถ้ายังไม่ชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 2 เดือน ผู้ค้ำประกันไม่รับผิดชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่เกาะบาฮามาในอาณานิคมของอังกฤษ มีนายยอช อ๊อตโต ร็อกฮอลท์ส เป็นผู้จัดการสาขาในประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย แต่ได้เลิกกิจการค้าแล้วแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2495 ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี โดยมีนายซุ่ยคิ้ม แซ่เกาเป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล จดทะเบียนในประเทศไทยจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีซื้อน้ำมันพร้อมทั้งภาชนะที่บรรจุจากโจทก์ตั้งแต่ 18 เมษายน 2492 จนถึง 27 ตุลาคม 2494 เมื่อหักบัญชีกันแล้วจำเลยที่ 1 คงเป็นลูกหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 896,200 บาท 60 สตางค์ จำเลยที่ 2 โดยธนาคารสาขาที่จังหวัดตรังได้ทำสัญญาค้ำประกัน การที่จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันจากโจทก์ในระหว่างเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2494 เป็นเงิน 600,000 บาท ในระหว่างวันที่ 4 มกราคม ถึง 4 มีนาคม 2494 ซึ่งเป็นเวลาที่ธนาคารสาขาที่จังหวัดตรังของจำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ซื้อน้ำมันพร้อมด้วยภาชนะบรรจุ ไปจากโจทก์ เป็นเงิน 823,523 บาท 14 สตางค์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงิน 600,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 600,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินส่วนที่ยังขาดแก่โจทก์อีก 296,200 บาท 60 สตางค์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความแทนโจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นตัวแทนในการจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ขณะนี้ยังเป็นลูกหนี้ค่าน้ำมันที่รับมาจากโจทก์ทั้งสิ้น 896,167 บาท 60 สตางค์ โจทก์ฟ้องคลาดเคลื่อนไป 33 บาท แท้จริงจำเลยยังมีทางชำระหนี้โจทก์ โจทก์ควรจะรอให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เสร็จลงเสียก่อน จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง แต่คำแปลสัญญาค้ำประกันไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันในกรณีโจทก์ฝากขายน้ำมัน ถ้าโจทก์ซื้อขายกัน จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดเพราะมิได้ค้ำประกันในกรณีซื้อขายในระหว่าง 2 เดือน ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน โจทก์ฝากขายน้ำมันแก่จำเลยที่ 1 เพียง 680,015 บาท 07 สตางค์ และจำเลยที่ 1 ได้ส่งเงินค่าน้ำมันแก่โจทก์แล้ว638,014 บาท 41 สตางค์ เมื่อโจทก์ถวงถาม จำเลยที่ 2 มิได้เพิกเฉยแต่ได้โต้แย้งไปแล้ว ขณะนี้จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ ชอบที่จะบังคับเอากับจำเลยที่ 1 ก่อน การที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงิน 600,000 บาท นั้นมิชอบด้วยกฎหมายลักษณะค้ำประกัน ถ้าหากจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้เก่าค้างอยู่ และโจทก์จะนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในระยะเวลาที่ค้ำประกันไปหักชำระหนี้เก่าเสียก่อน จำเลยที่ 2 ก็จะไม่รับเป็นผู้ค้ำประกันเลย อย่างไรก็ดี สัญญาค้ำประกันมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ 2 เดือน โจทก์จะต้องฟ้องเรียกหนี้ในกำหนด 2 เดือน โดยสัญญาได้จำกัดเวลาไว้ แต่โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ช้านานเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ทั้งคดีของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้วจึงขอให้ยกฟ้องโจทก์

ในการชี้สองสถาน โจทก์แถลงว่าเพื่อตัดความยุ่งยาก โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้น้อยกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้อง 33 บาท จำเลยที่ 1 แถลงว่าไม่ขอต่อสู้คดีอย่างใด ศาลแพ่งจึงกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำสืบก่อนในข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันนั้นแล้ว และโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วให้โจทก์สืบแก้และนำสืบในเรื่องข้อความตามสัญญาค้ำประกันต่อจากนั้นให้จำเลยที่ 2 สืบแก้ในเรื่องการแปลสัญญาอีกครั้ง

ทางพิจารณา จำเลยซึ่งมีหน้าที่สืบก่อน นำสืบเป็นความว่าบริษัทซุ่นเฮง จำกัด จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อค้าน้ำมันกับบริษัท คาลเท็กส์ โจทก์ อยู่ประมาณ 2 ปี แต่ได้เลิกบริษัทและชำระบัญชีตั้งแต่ พ.ศ. 2495 วิธีค้าระหว่างบริษัทซุ่นเฮงกับบริษัทโจทก์คือ บริษัทคาลเท็กส์เอาน้ำมันฝากให้บริษัทซุ่นเฮงขาย โดยบริษัทซุ่นเฮงต้องมีผู้ค้ำประกันด้วย บริษัทซุ่นเฮงจึงเอาธนาคารนครหลวงจังหวัดตรังเป็นผู้ค้ำประกัน บริษัทซุ่นเฮงรับน้ำมันจากโจทก์พร้อมด้วยถัง แต่คิดราคาน้ำมันและถังแยกกันต่างหาก ทั้งบริษัทโจทก์และจำเลยต่างมีบัญชีไว้ แต่นายซุ่ยคิ้ม แซ่เกา เบิกความว่าถ้าบริษัทซุ่นเฮงซื้อน้ำมันเองจึงจะลงบัญชี ถ้าเป็นแต่รับฝากขายไม่ลงบัญชี ถ้าจำเลยส่งถังคืนบริษัทโจทก์ก็หักบัญชีให้ เมื่อจำเลยขายน้ำมันให้แก่ลูกค้าไปแล้ว จำเลยต้องรับผิดชอบเก็บเงินเอง แล้วส่งใช้ให้โจทก์ ธนาคารนครหลวงได้ค้ำประกันบริษัทซุ่นเฮงรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ประกันในวงเงิน 670,000 บาท มีกำหนดเวลา 6 เดือน ครั้งที่สองประกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2493 มีกำหนดเวลา 5 เดือน ในวงเงิน 660,000 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2494 ในวงเงิน 600,000 บาท กำหนดเวลาค้ำประกัน 2 เดือน การค้ำประกัน 2 ครั้งแรกสุดสิ้นไป และบริษัทโจทก์ได้เวนคืนสัญญาค้ำประกันให้แก่ธนาคารนครหลวงแล้ว สำหรับการประกันครั้งที่ 3 นั้น บริษัทโจทก์ยังไม่ได้คืนสัญญาค้ำประกัน โดยถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีความรับผิดตามสัญญาประกันอยู่ ในระหว่างเวลา 2 เดือนที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับน้ำมันจากโจทก์เรื่อย ๆ เป็นราคากว่า 600,000 บาท และได้ใช้เงินให้แก่โจทก์ไปเป็นจำนวนรวม 600,000 บาท กว่า เกินจำนวนที่จำเลยที่ 1 ค้ำประกันเสียอีก เงินที่ว่าชำระนี้ ตัวนายซุ่ยคิ้ม แซ่เกา ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทซุ่นเฮง เองเป็นผู้เอาไปชำระที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทโจทก์ที่กรุงเทพ ฯการชำระนี้ไม่ได้ชำระหนี้เก่า เป็นการชำระค่าน้ำมันที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันไว้ 600,000 บาท นั้น แต่ก่อนประกันครั้งที่ 3 บริษัท ซุ่นเฮงมีหนี้เก่าค้างอยู่กับบริษัทโจทก์ 980,615 บาท 07 สตางค์ การที่ต้องเลิกบริษัทซุ่นเฮงก็เพราะการค้าขาดทุน นายเชาว์ ชีโนกุลซึ่งเป็นผู้ควบคุมการทำบัญชีของบริษัทซุ่นเฮง ตลอดเวลาที่บริษัทนี้เปิดทำการเบิกความว่า ตั้งแต่ 4 มกราคม ถึง 3 มีนาคม2494 บริษัทซุ่นเฮงชำระหนี้ค่าน้ำมันให้โจทก์ด้วยเงินสดเพียงครั้งเดียวเป็นจำนวน 400,000 บาท โดยนายซุ่ยคิ้มผู้จัดการเป็นผู้เอาไปชำระเอง นอกจากนี้ได้คืนถังน้ำมันให้โจทก์อีกเป็นราคาสองแสนสามหมื่นบาทเศษ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 มีฝรั่งคนหนึ่งในบริษัทโจทก์ คือนายร๊อก ฮอลท์ส ซึ่งทางจำเลยได้รับแจ้งว่าเป็นผู้รับตำแหน่งผู้จัดการบริษัท ไปพักอยู่ที่ธนาคารนครหลวง สาขาจังหวัดตรัง และได้แจ้งแก่นายซุ่ยคิ้ม กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ได้มาทวงถามหนี้เก่า สำหรับหนี้เก่าให้บริษัทซุ่นเฮงผ่อนชำระย่อย ๆ ไป และให้บริษัทซุ่นเฮงขายน้ำมันของบริษัทคาลเท็กส์ต่อไป แล้วนายร๊อก ฮอลท์ส ก็ได้แจ้งให้นายมนัสผู้จัดการธนาคารนครหลวง สาขาจังหวัดตรังทราบเป็นทำนองเดียวกับที่พูดกับนายซุ่ยคิ้มก่อนธนาคารนครหลวงจะค้ำประกันบริษัทซุ่นเฮง ธนาคารไม่ทราบว่าบริษัท ซุ่นเฮงมีหนี้สินผูกพันอย่างไรหรือไม่ และไม่ได้เรียกหลักทรัพย์เป็นประกัน เป็นแต่นายซุ่ยคิ้มรับรองว่า มีทรัพย์สินส่วนตัวอย่างใดบ้างเท่านั้น การค้ำประกันนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่าจะให้หักใช้หนี้เก่า และจำเลยที่ 2 ค้ำประกันแต่เฉพาะน้ำมันที่อยู่ในโกดังของบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 แล้วเกือบ 2 ปี บริษัทโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งไปยังผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 2 ว่า บริษัทซุ่นเฮงยังไม่ได้ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงได้ตอบไปว่า บริษัทซุ่นเฮงได้ชำระหนี้ให้โจทก์หมดแล้ว และทางจำเลยที่ 2 ไม่มีข้อผูกพันแล้ว สำหรับน้ำมันที่โจทก์ส่งไปให้จำเลยที่ 1 ขาย ซึ่งในสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องใช้คำว่า “Consign” (คอนไซน์) นั้น นายวินิจ อุทัยวัฒน์ สมุห์บัญชีธนาคารนครหลวงสาขาจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันภาษาอังกฤษที่โจทก์นำมาฟ้องเบิกความว่าคำว่า “Consign” แปลว่า “มอบให้” “รับฝาก” “มอบให้ขาย” “ฝากขาย”หรือจะแปลว่า “ส่งไป” ก็ได้

ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า นายร๊อก ฮอลท์ส เพิ่งเข้ารับหน้าที่ผู้จัดการ บริษัทคาลเท็กส์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2495 ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ไปดูตลาดการค้าที่จังหวัดตรัง พบผู้จัดการสาขาของธนาคารนครหลวงและผู้จัดการบริษัทซุ่นเฮงจำเลยที่ 1 พยาน ไม่ได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เป็นแต่ขอร้องให้บริษัทซุ่นเฮงชำระหนี้ เพราะทราบว่าบริษัทนั้นเป็นหนี้อยู่บริษัทซุ่นเฮงเคยรับน้ำมันบริษัทโจทก์ไปขาย โดยบริษัทซุ่นเฮงมีคำสั่งให้บริษัทโจทก์ส่งน้ำมันไปให้ เมื่อโจทก์ส่งไปแล้วก็ลงบัญชีของโจทก์ไว้ว่า บริษัทซุ่นเฮงเป็นหนี้ค่าน้ำมันเป็นจำนวนเท่าใด และเมื่อบริษัทซุ่นเฮงส่งเงินมาชำระเท่าไร บริษัทโจทก์ก็ลงบัญชีไว้ในด้านเจ้าหนี้ น้ำมันที่ส่งไปนั้นมีภาชนะใส่ไปด้วยเมื่อค่าภาชนะเป็นจำนวนเท่าใด บริษัทโจทก์ลงบัญชีว่าบริษัทซุ่นเฮงเป็นลูกหนี้เท่านั้น และเมื่อบริษัทซุ่นเฮงส่งภาชนะคืนบริษัทโจทก์ก็ลงบัญชีเจ้าหนี้ไว้ให้เช่นเดียวกัน การชำระเงินนั้น บริษัทซุ่นเฮงส่งมาเป็นคราว ๆ จำนวนมาก ๆ ไม่ได้ส่งมาชำระราคาน้ำมันที่ส่งไปเป็นคราว ๆ เมื่อจำเลยชำระเงินมา บริษัทโจทก์ก็คิดหักบัญชีลูกหนี้รายเก่าที่สุดลงมาให้ การที่จะรู้ว่าหนี้ของบริษัทซุ่นเฮงค้างเท่าใดนั้น อาจทำได้เสมอ โดยเอายอดเงินที่ได้รับชำระไปหักออกจากยอดเงินค่าสินค้าที่บริษัทโจทก์ส่งให้แก่บริษัทซุ่นเฮงน้ำมันที่บริษัทโจทก์ส่งให้บริษัทซุ่นเฮงนั้นถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทซุ่นเฮง เมื่อบริษัทซุ่นเฮงยังไม่ชำระราคาก็ถือว่าบริษัทซุ่นเฮงเป็นหนี้โจทก์ โจทก์ไม่มีหน้าที่ไปเก็บหนี้จากลูกหนี้ที่ค้างค่าน้ำมันบริษัทซุ่นเฮง ในระหว่างวันที่ 4 มกราคม ถึง 4 มีนาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 บริษัทโจทก์ส่งน้ำมันไปให้บริษัทจำเลยเป็นราคา 823,523 บาท 14 สตางค์ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ส่งประกอบฟ้องบริษัทจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระค่าน้ำมัน และภาชนะที่ได้รับจากโจทก์สำหรับระยะเวลา 2 เดือน ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันนี้เลยเงินสด 400,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ในวันที่ 15 มกราคม2494 นั้น เป็นการชำระหนี้เก่าที่ค้างอยู่ เพราะต่อจากวันที่ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 15 มกราคมนั้น บริษัทโจทก์ส่งน้ำมันไปให้จำเลยที่ 1 เพียง 2 รายการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2494 เป็นเงินแปดหมื่นบาทเศษเท่านั้น หลังจากวันที่ 15 มกราคม 2494 แล้ว บริษัทซุ่นเฮงไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินสดอีกเลย มีแต่คืนภาชนะและคิดค่านายหน้า และส่วนลดเท่านั้นธนาคารนครหลวงสาขาจังหวัดตรังได้เป็นผู้ค้ำประกันค่าน้ำมัน และค่าภาชนะที่บริษัทโจทก์ส่งให้บริษัทซุ่นเฮงรวม 3 ครั้ง การค้ำประกันคราวแรกเป็นการประกันน้ำมัน จำนวนที่ส่งทางเรือ ประกันครั้งที่ 2 ประกันน้ำมันจำนวนที่ส่งทางรถไฟส่วนครั้งที่ 3 คือครั้งที่โจทก์ฟ้องนี้ไม่จำกัดจำนวนน้ำมัน และไม่จำกัดว่าจะขนโดยยานพาหนะใด การประกัน 2 ครั้งนั้นถือว่าสิ้นสุดและบริษัทโจทก์ได้คืนสัญญาค้ำประกัน 2 ฉบับแรก ให้ธนาคารนครหลวงไปแล้ว คำว่า 2 เดือน ในสัญญาค้ำประกันฉบับที่โจทก์ฟ้องนี้หมายความว่าค้ำประกันค่าน้ำมัน และภาชนะที่บริษัทโจทก์ส่งไปให้บริษัทซุ่นเฮงภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2494 จึงต้องรอจนครบ 2 เดือนเสีย ก่อนจึงจะทราบว่าบริษัทซุ่นเฮงได้รับน้ำมันไประหว่างนั้นเท่าใด เพราะในระหว่างเวลา 2 เดือนนั้น บริษัทซุ่นเฮงอาจสั่งให้โจทก์ส่งน้ำมันไปให้ได้เสมอ เมื่อบริษัทซุ่นเฮงยังไม่ได้ชำระค่าน้ำมันและภาชนะที่ได้รับไประหว่างวันที่ 4 มกราคมถึง 4 มีนาคม 2494 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ค้ำประกันไว้ ทางโจทก์จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ และก่อนฟ้องคดีนี้ก็ได้เตือนให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ได้ผลคำว่า “Consigned” ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นตรงกับคำว่า “delivered” ซึ่งแปลว่า “ส่ง”

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า เบื้องต้นจะต้องวินิจฉัยคำแปลสัญญาค้ำประกันเสียก่อนว่ามีความหมายอย่างไร น้ำมันนั้นจำเลยที่ 1 จะรับฝากขายหรือรับซื้อไม่สำคัญ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าน้ำมันให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ต้องใช้แทน แต่สัญญานี้กำหนดเงื่อนเวลาสุดสิ้นไว้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ลงในหนังสือค้ำประกัน เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว สัญญารายนี้ก็สิ้นผล บังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงประเด็นอื่น จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 896,167 บาท 60 สตางค์ ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 500 บาท แทนโจทก์ด้วย คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าทนายความ 6,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ด้วย

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คงพิพากษายืน โจทก์จึงฎีกาคัดค้านต่อมา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนฟังคำแถลงการณ์ของคู่ความและประชุมปรึกษาแล้ว จึงวินิจฉัยคดีตามประเด็นเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

1. ในประเด็นที่ว่าโจทก์ส่งน้ำมันไปให้จำเลยที่ 1 เป็นการขายขาดหรือฝากขาย ซึ่งจำเลยที่ 2 เถียงว่าตนค้ำประกันเฉพาะการฝากขายนั้น ข้อโต้เถียงเกิดขึ้นเนื่องจากการแปลสัญญาซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Consigned” นายวินิจ อุทัยวัฒน์ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เขียนสัญญา เบิกความว่า คำนี้จะแปลว่า “ฝากขาย” หรือ “ส่งไป” ก็ได้ ส่วนโจทก์ยืนยันว่า คำว่า “Consigned” ตรงกับคำอังกฤษว่า “delivered” ซึ่งแปลว่า “ส่งไป” และนายซุ่ยคิ้ม ผู้จัดการบริษัทซุ่นเฮง จำเลยที่ 1 ก็รับว่าน้ำมันที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้าไปนั้น จำเลยต้องรับผิดเก็บเงินเอง ฝ่ายโจทก์ยืนยันว่าน้ำมันที่ส่งไปให้จำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ไม่มีหน้าที่ไปเก็บหนี้จากลูกหนี้ที่ค้างชำระค่าน้ำมันอยู่แก่บริษัทซุ่นเฮง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่าน้ำมันที่โจทก์ส่งไปให้จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการขายขาดให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ สำหรับค่าน้ำมันนั้น ฉะนั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ก็จะต้องรับผิดในฐานเป็นผู้ค้ำประกันไม่ว่าเป็นการฝากขายหรือขายขาด

2. วิธีค้าขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความตามคำพยานของทั้งสองฝ่ายว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องการน้ำมันเท่าใดก็สั่งไปยังโจทก์ เมื่อโจทก์ส่งน้ำมันไปให้จำเลยที่ 1 เท่าใดก็ลงบัญชีลูกหนี้ไว้ทุกคราวว่าจำเลยที่ 1 ได้รับน้ำมันไปเป็นราคาเท่าใด และรับภาชนะใส่น้ำมันไปเป็นราคาเท่าใด ทางฝ่ายจำเลยที่ 1 ก็มีบัญชีรับน้ำมันและภาชนะใส่น้ำมันจากโจทก์ทำนองเดียวกัน การชำระเงิน จำเลยที่ 1 ส่งเงินมาชำระให้โจทก์เป็นก้อนนาน ๆ ครั้งหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งเงินมาชำระหรือคืนภาชนะใส่น้ำมันไปยังโจทก์ โจทก์ก็ลงบัญชีในช่องเจ้าหนี้ไว้ให้ทุกครั้ง ฉะนั้นถ้าต้องการทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหนี้สินเกี่ยวค้างกันเท่าใดก็อาจทราบได้โดยแต่ละฝ่ายเอาบัญชีเจ้าหนี้หักออกจากบัญชีลูกหนี้ ด้วยเหตุที่การค้าระหว่างโจทก์จำเลยดำเนินมาตามวิธีที่กล่าวนี้เรื่อย ๆ ไม่เคยมีการปิดบัญชีหรือชำระบัญชีระหว่างกันจนจำเลยที่ 1 เลิกกิจการในตอนสุดท้าย คดีจึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อจำเลยชำระเงินมาคราวใด โจทก์ก็หักใช้หนี้เก่าที่ยังค้างให้ก่อนตามลำดับ

3. สำหรับประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ค่าน้ำมันและภาชนะที่ได้รับระหว่างวันที่ 4 มกราคม ถึง 4 มีนาคม 2494 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาตามสัญญาประกันของจำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่นั้นจำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนในข้อนี้ นายซุ่ยคิ้มผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในระหว่าง 2 เดือน ที่ธนาคารค้ำประกัน บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับน้ำมันมาเป็นราคา 600,000 กว่าบาท และได้ชำระหนี้ไป 600,000 กว่าบาทอีกเหมือนกัน โดยชำระเป็นเงินสด 400,000 บาท ที่กรุงเทพ ฯ การชำระหนี้นี้เป็นการชำระหนี้ค่าน้ำมันที่ธนาคารค้ำประกัน ไม่ใช่ชำระหนี้เก่า แต่ในวันที่ 15 มกราคม 2494 ซึ่งเป็นวันชำระเงิน 400,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 เบิกน้ำมันจากโจทก์มายังไม่ถึง 400,000 บาท เพราะฉะนั้น ถ้าคำให้การของนายซุ่ยคิ้มในเรื่องเงิน 400,000 บาท นี้ ถูกต้องก็แปลว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินล่วงหน้าให้โจทก์ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีหนี้ นายซุ่ยคิ้มยอมรับต่อไปว่าก่อนที่ธนาคาร จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ราว 9 แสนบาท ได้ความจากนายเชาว์ ชีโนกุล ผู้ควบคุมบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า ก่อนวันที่ 4 มกราคม 2494 จำเลยที่ 1 มีหนี้เก่าอยู่กับโจทก์ 980,615 บาท 07 สตางค์ ในระหว่างวันที่ 4 มกราคม ถึง 3 มีนาคม 2494 บริษัทจำเลยชำระหนี้โจทก์ไป 638,014 บาท 41 สตางค์ ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ในระหว่างวันที่ 4 มกราคม ถึง 4 มีนาคม 2494 โจทก์ส่งน้ำมันไปให้จำเลยที่ 1 ตามบัญชีหมาย จ.4 ท้ายฟ้อง เป็นเงิน 823,523 บาท 14 สตางค์ จำเลยยังไม่ได้ชำระค่าน้ำมันและภาชนะที่ได้รับในระหว่าง 2 เดือนนี้เลย เงินสด 400,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2494 เป็นการชำระหนี้เก่าที่ค้างอยู่ เพราะระหว่างวันที่ 4 มกราคม ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน และ 15 มกราคม 2494 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 400,000 บาท นั้น บริษัทโจทก์เพิ่งส่งน้ำมันให้จำเลยได้ 2 รายการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2494 เป็นเงินแปดหมื่นบาทเศษเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อฟังว่าจำเลยชำระหนี้ครั้งใดเป็นการชำระหนี้ค้างเก่าก่อนดังได้กล่าวแล้วข้างต้น และจำเลยก็รับว่าขณะที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 3 จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ถึง 9 แสนบาทเศษ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินสดให้โจทก์ในวันที่ 12 มกราคม 2494 จำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับน้ำมัน ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันของจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเพียงแปดหมื่นบาทเศษ ดังที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงก็จะฟังเป็นอย่างอื่นมิได้ นอกจากว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าน้ำมันและภาชนะที่ได้รับไปจากโจทก์ระหว่างวันที่ 4 มกราคม ถึง 4 มีนาคม 2494 ดังที่โจทก์ฟ้อง และเงิน 400,000 บาท นั้น แท้จริงใช้ชำระหนี้เก่าที่ค้างอยู่

4. สำหรับประเด็นเรื่องการตีความหมายของสัญญาค้ำประกันภาษาอังกฤษลงวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) ซึ่งธนาคารจำเลยที่ 2 ทำให้ไว้แก่บริษัทโจทก์นั้น โจทก์แปลประโยคสุดท้ายของสัญญานี้เป็นภาษาไทยว่า “การค้ำประกันนี้มีผลใช้สำหรับระหว่างเวลาสองเดือนนับแต่วันที่ลงในสัญญาค้ำประกันนี้เป็นต้นไป” และอ้างว่าข้อความนี้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันค่าน้ำมันที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์ในระหว่างเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 4 มกราคม ถึง4 มีนาคม 2494 แต่จำเลยเถียงว่าสัญญานี้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 เพียง 2 เดือน ถ้าโจทก์ไม่เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ภายใน 2 เดือน จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากความรับผิด ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญานี้เขียนข้อความไว้อย่างหลวม ๆ การตีความต้องตีความไปในทางที่คู่กรณีอาจปฏิบัติได้ จึงต้องพิจารณาถึงวิธีปฏิบัติซึ่งคู่สัญญาได้กระทำต่อกันตลอดมาเป็นเครื่องประกอบให้เห็นเจตนาอันแท้จริงของทั้งสองฝ่ายด้วย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา ปรากฏว่า การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีเปิดบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้โดยคิดเอาจำนวนสินค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับหักกับเงินที่ชำระและค่าภาชนะที่ส่งคืนเป็นคราว ๆ ติดต่อกันไปโดยไม่เคยปิดบัญชีคิดกันเป็นตอน ๆ จำเลยที่ 2 เคยประกันจำเลยที่ 1 รวม3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2493 ประกันค่าน้ำมัน 2,000 ถัง ที่ส่งไปโดยเรือกลไฟแบลคิงกี ถึงกันตังเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2493 ภายในวงเงิน 670,000 บาท การค้ำประกันนี้มีผลบังคับกำหนดเวลา 6 เดือน หรือเมื่อสินค้าฝากขายดังกล่าวข้างต้นได้จำหน่ายไปแล้ว สุดแล้วแต่เวลาอันใดจะสั้นกว่า ครั้งที่ 2 ประกันค่าน้ำมัน 2,106 ถัง ซึ่งได้ส่งโดยทางรถไฟ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2493 ภายในวงเงิน 660,000 บาท การค้ำประกันนี้มีผลบังคับกำหนดเวลา 5 เดือน หรือเมื่อสินค้าที่ฝากขายดังกล่าวได้จำหน่ายไปหมดแล้ว สุดแล้วแต่ระยะเวลาใดจะสั้นกว่า การประกันครั้ง 2 นี้ กระทำเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2493 พอครบกำหนด 5 เดือน จำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาค้ำประกันฉบับที่ 3 อีกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2494 คือฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ การประกันครั้งที่ 3 นี้ผิดกับ 2 ครั้งแรก เพราะไม่ได้บอกจำนวนน้ำมันว่ากี่ถัง และไม่ได้บอกว่าส่งมาทางใด คงมีข้อจำกัดแต่เพียงว่าประกันภายในวงเงิน 600,000 บาท และมีผลใช้สำหรับระหว่างเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ทำ จึงเป็นการประกันอย่างกว้าง ๆ ผิดกับ 2 คราวแรก และจำนวนน้ำมันที่ประกันก็ไม่อาจทราบได้จนกว่าระยะเวลา 2 เดือน จะได้ผ่านไปแล้วเพราะตราบใดที่ยังไม่ครบ 2 เดือน จำเลยที่ 1 ก็อาจสั่งน้ำมันจากโจทก์ได้เรื่อย ๆ และจำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ส่งน้ำมันเสร็จสิ้นตามสัญญานั้น ในเรื่องสัญญาค้ำประกันนี้นายซุ่ยคิ้มกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 เบิกความว่า “ที่ให้ธนาคารนครหลวงเป็นผู้ค้ำประกันในระยะ 2 เดือนนั้นเฉพาะระหว่าง 2 เดือน ที่บริษัทซุ่นเฮงเบิกน้ำมันที่โกดังมาในวงเงินที่ประกัน” และนายมนัสผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 2 เบิกความว่า “ถ้าระยะระหว่าง 2 เดือนนี้ บริษัทซุ่นเฮงรับน้ำมันจากบริษัทโจทก์มาก็อยู่ในระหว่างที่ข้า ฯ ค้ำประกัน” ทั้งนี้ถ้าพิจารณาประกอบกับวิธีการที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องทวงถามบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นซึ่งผิดนัดเมื่อครบกำหนด 2 เดือนแล้วเสียก่อน แล้วจึงจะทวงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ จะเห็นว่าไม่มีทางแปลกำหนดเวลา 2 เดือน ตามสัญญาที่โจทก์ฟ้องเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องแปลว่าเป็นกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับน้ำมันจากโจทก์ เพราะถ้าตีความว่าจำเลยที่ 2 จำกัดความรับผิดของตนชั่วเวลา 2 เดือน สัญญาค้ำประกันนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ด้วยไม่มีทางที่จะปฏิบัติให้เป็นผลได้ เพราะฉะนั้นจำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในสัญญานั้นต่อโจทก์

5. สำหรับประเด็นเรื่องการผ่อนเวลาชำระหนี้นั้น เมื่อพิจารณาคำพยานโจทก์และจำเลยเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า นายร๊อกฮอลท์ส จะได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ดังจำเลยที่ 2 ว่า น่าเชื่อแต่ว่า นายร๊อก ฮอลท์ส ได้ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ แม้จะฟังว่า นายร๊อก ฮอลท์ส พูดผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อไปที่ตรัง ขณะนั้น นายร๊อก ฮอลท์ส ก็ยังไม่ได้เป็นผู้จัดการบริษัทโจทก์ และไม่มีอำนาจผูกพันโจทก์ ทั้งนายมนัสก็เบิกความว่าไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการที่นายร๊อก ฮอลท์ส ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แต่ประการใด ข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีก ส่วนปัญหาเรื่องหนี้ขาดอายุความตามที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นกล่าวในคำให้การแก้คดีนั้น จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าหนี้นั้นขาดอายุความอย่างไร ทั้งไม่ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ชั้นฎีกาด้วย จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัย

อาศัยเหตุต่าง ๆ ดังได้แสดงมาแล้ว ศาลนี้เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น จึงพร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบจำนวนที่ตนค้ำประกัน พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง ให้จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 3 ศาล เป็นเงิน 12,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้นี้คงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share