คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเบิกความว่า ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพื่ออำพรางสัญญาโครงการบูรณะโรงแรม และอาคารพาณิชย์ที่จำเลยร่วมทุนกับ ส. และพวก เป็นการนำสืบนอกคำให้การของจำเลยที่ต่อสู้ว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท เพราะการฉ้อฉลของ ส. กับพวก ทำให้จำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญาการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของจำเลยจึงต้องจำกัดเพียงเฉพาะข้อต่อสู้ตามคำให้การเท่านั้น โจทก์อุทธรณ์และฎีกาในประเด็นเรื่องจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทโจทก์ จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดิน 2 โฉนด คือ โฉนดเลขที่6109 และ 6921 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีโรงแรมลิเบอร์ตี้และอาคารพาณิชย์ รวมราคา 90,000,000 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ได้ชำระเงินบางส่วนแล้ว 2,500,000 บาท เงินส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระให้เป็นงวดรวม 4 งวด โดยมีเงื่อนไขว่าการชำระเงินแต่ละงวดนั้นจำเลยต้องมอบการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปราศจากภาระผูกพันจากการเช่าให้แก่โจทก์ทีละส่วน โดยจำเลยตกลงจะมอบอำนาจให้โจทก์เข้าเป็นตัวแทนในการบอกเลิกสัญญาเช่า ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมและแบ่งแยกโฉนดที่ดินการยื่นคำขอใด ๆ เพื่อการจัดสรรที่ดิน จำเลยต้องมอบอำนาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์ได้เตรียมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเพื่อให้จำเลยลงนามแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยลงนามในหนังสือมอบอำนาจ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทราบว่าจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์เพราะไม่เคยแสดงความจำนงขอเป็นผู้ถือหุ้นหรือรับโอนหุ้นของบริษัทโจทก์ จำเลยไม่เคยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง จำเลยรับว่าลายเซ็นชื่อของผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาท เป็นลายมือชื่อของจำเลยจริง แต่เอกสารดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะยังมีบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาอีก 1 ฉบับ เหตุที่จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเพราะเกิดจากการฉ้อฉลของร้อยเอกสุพนธ์ ชัยวิมล กับพวก ทำให้จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา และโจทก์ทำสัญญาเอาเปรียบจำเลยหลายประการสัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ และจำเลยได้บอกล้างสัญญาไปถึงโจทก์แล้วจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนที่จำเลยจะได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จำเลยและร้อยเอกสุพนธ์ได้เคยปรึกษากันถึงเรื่องการดำเนินกิจการโรงแรมลิเบอร์ตี้และอาคารพาณิชย์ อันเป็นทรัพย์มรดกตกทอดได้แก่จำเลยโดยจำเลยเบิกความว่า สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์หน้าโรงแรมลิเบอร์ตี้ใกล้จะหมดอายุสัญญาเช่าแล้วร้อยเอกสุพนธ์ให้ความเห็นว่า ควรบูรณะอาคารพาณิชย์ดังกล่าวขึ้นใหม่และดัดแปลงบางส่วนเป็นศูนย์การค้าเพื่อจะได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น ต่อมาไม่มีเงินทุนที่จะดำเนินการตามโครงการ ร้อยเอกสุพนธ์จึงแนะนำจำเลยให้ชวนนายประสิทธิ์ ชินอุดมทรัพย์และนายวัฒนา ลัมพสาระ มาร่วมทุนด้วย โดยจะแบ่งผลกำไรออกเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน และเมื่อปรึกษากันเกี่ยวกับโครงการดำเนินงานแล้วนายวัฒนาเสนอว่าต้องทำเป็นสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยผู้จะขายโรงแรมลิเบอร์ตี้กับนายประสิทธิ์ผู้จะซื้อเพื่อนำไปแสดงและขอกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยไม่มีเจตนาที่จะซื้อขายกันจริง แต่ต่อมาได้ตกลงเปลี่ยนตัวผู้จะซื้อจากนายประสิทธิ์เป็นบริษัทโจทก์เพราะจะมีความน่าเชื่อถือดีกว่า จำเลยได้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในขณะที่มึนเมาสุรา นอกจากนี้จำเลยได้ลงชื่อในสัญญาโครงการลิเบอร์ตี้ซึ่งเป็นสัญญาที่มุ่งจะผูกพันระหว่างกันอย่างแท้จริงอีกด้วย คำเบิกความของจำเลยที่ยกขึ้นกล่าวมานี้เป็นการอ้างเหตุว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท เพื่ออำพรางสัญญาโครงการบูรณะโรงแรมลิเบอร์ตี้และอาคารพาณิชย์ที่จำเลยได้ร่วมทุนกับร้อยเอกสุพนธ์กับพวก ดังนั้น ทางนำสืบของจำเลยจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การของจำเลยที่ต่อสู้คดีว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท เพราะการฉ้อฉลของร้อยเอกสุพนธ์กับพวก ทำให้จำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญาในเรื่องมูลค่าของทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่แท้จริง และเงื่อนไขการชำระเงินตามสัญญาข้อ 3 ข้อ 5 และข้อ 6 ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกันก่อนนั้น ทั้งเป็นการทำสัญญาเอาเปรียบจำเลยหลายประการ ดังนั้น การรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของจำเลยผู้มีภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้ จึงต้องจำกัดอยู่เพียงเฉพาะข้อต่อสู้ตามคำให้การเท่านั้น
ส่วนประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ในเรื่องจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์ได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาเป็นลำดับซึ่งในประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยให้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ในประเด็นเรื่องผิดสัญญาและค่าเสียหายตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อพิพากษาคดีใหม่

Share